สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

โฮมบุญออกพรรษา แห่กระธูป

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...พงษ์ไทย วัฒนาวณิชย์วุฒิ

ประเพณีโฮมบุญแห่ต้นกระธูปถือเป็นประเพณีโบราณเก่าแก่ที่สุดอีกแห่งหนึ่ง ของชาวบ้านบ้านราษฎร์ดำเนิน ต.หนองบัวแดง อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ ที่ยังคงร่วมกันปฏิบัติสืบทอดต่อกันมานับร้อยปี โดยนิยมทำกันในช่วงก่อนออกพรรษา 3 วัน ของทุกปี ตามความเชื่อที่ว่าเป็นการบูชาถวายการสักการะองค์สัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะ เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์หลังจากโปรดพุทธมารดา โดยการจุดกระธูปเป็นสัญลักษณ์ของต้นไม้แห่งชมพูทวีป การจุดไต้น้ำมัน การเวียนเทียน การทำบุญตักบาตรเทโว เพื่อความเป็นสิริมงคล สร้างความร่มเย็นเป็นสุขอันยิ่งใหญ่ เปรียบเอากระธูปเป็นเครื่องสักการะบูชาพระพุทธเจ้า

ความเป็นมาและความเชื่อในการจัดงานประเพณีบุญกระธูป ความร่มเย็นอันยิ่งใหญ่ของกระธูป สัญลักษณ์แทนต้นหว้า ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำชมพูทวีป ถูกบันทึกไว้ในหนังสือฎีกาพระมาลัยสูตร บอกไว้ว่า ลักษณะของต้นกระธูปมีความยาว 50 โยชน์ มีกิ่งใหญ่ 4 กิ่ง แผ่ออกไป 4 ทิศทาง กว้างเป็นปริมณฑลได้ 100 โยชน์ หมายถึงพุทธศาสนานี้เป็นร่มเย็นแก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย เปรียบเอาต้นกระธูปนี้ จุดแล้วส่งกลิ่นหอมฟุ้งขยายไปยังทิศต่างๆ กลิ่นหอมนี้ย่อมเป็นที่ชื่นใจแก่มนุษย์ทั้งปวงที่ได้สัมผัสกลิ่นย่อมเกิด ปีติและความสุข ความเบิกบาน

 

ในอดีตก่อนออกพรรษาชาวบ้านจะร่วมแรงร่วมใจกันสร้างต้นกระธูป โดยจะตีเกราะเคาะขอลอให้ชาวบ้านออกไปรวมตัวที่จุดนัดหมาย ซึ่งอาจจะเป็นศาลากลางหมู่บ้านหรือบ้านของผู้ใหญ่บ้าน การทำต้นกระธูปก็จะใช้วัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่น ประกอบด้วย ขุยมะพร้าว นำไปขยี้ให้ละเอียดแล้วเอาไปตากแห้ง ใบอ้ม ใบเนียม ใบทองพันชั่ง ซึ่งคุณสมบัติมีกลิ่นหอม นำใบไม้ทั้ง 3 ชนิดไปนึ่งแล้วนำไปตากแดดให้แห้ง แล้วเอาไปบดอีกครั้งจนเป็นฝุ่นผงหอม ไม้ไผ่บ้านหรือไผ่รวกที่แก่ได้ที่จะใช้ทำลำต้นกระธูป ความยาว 3-4 เมตร หรือมากกว่านั้น ส่วนก้านเลื่อยไม้ให้ได้ความยาว 60-100 เซนติเมตร หรือมากกว่านั้น รูปทรงคล้ายคันเบ็ด ใบตาล นำมาตากแดดให้แห้งแล้วนำมากรีดออกจากก้านเป็นริ้วเล็กๆ ขนาดเท่ากัน แล้วสานเป็นรูปดาวไว้ใช้ร้อยติดกับกระธูปและกระดาษแก้ว กระดาษย่น กระดาษปรู๊ฟ กระดาษสี ไว้ตกแต่งลวดลาย

ขั้นตอนการทำต้นกระธูป เริ่มจากเอาขุยมะพร้าวมาผสมกับฝุ่นผงหอมของใบอ้ม ใบเนียม แล้วห่อด้วยกระดาษเข้ารูปยาวเหมือนธูป นำกระดาษสีมาตัดแปะเป็นลวดลายให้สวยงาม ส่วนใหญ่นิยมแบบลายไทยเช่นเดียวกับลายมัดหมี่ แล้วนำธูปที่ได้มาติดกับดาวที่ทำจากใบลาน มามัดติดกับคันไม้ไผ่ที่มีลักษณะคล้ายคันเบ็ด แล้วเอาไปเสียบไว้กับแกนไม้ไผ่ที่เตรียมไว้ ความสูงประมาณ 3-5 เมตร หรือมากกว่านั้น ขึ้นทรงคล้ายฉัตร พร้อมกับเอาลูกดุมกา ลักษณะคล้ายส้ม แต่มีเปลือกแข็งมาผ่าเป็นสองซีก ใส่น้ำมันพืชลงไปแล้วขวั้นด้ายเป็นรูปตีนกาเพื่อจุดไฟให้แสงสว่างใต้ต้นกระ ธูป แต่ในระยะหลังเริ่มมีการนำธูปสำเร็จรูปมาใช้แทนเพื่อความสะดวกรวดเร็ว

 

เมื่อปี 2545 อ.หนองบัวแดง ได้เล็งเห็นคุณค่าของประเพณีแห่กระธูปนี้ เลยให้ชุมชนและวัดต่างๆ ที่เคยทำต้นกระธูปให้ร่วมกันทำเพื่อสืบสานประเพณี และยังจัดให้มีการประกวดต้นกระธูปแต่ละท้องถิ่น เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในปีนี้ มีการทำต้นกระธูปเข้าแข่งขันถึง 9 ต้น จัดแสดงไว้ที่หน้าที่ว่าการอำเภอหนองบัวแดง กระธูปแต่ละต้นถูกตกแต่งอย่างพิถีพิถัน สีสันสวยงามตระการตา

สำหรับในปีนี้ ทาง จ.ชัยภูมิ ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานนครราชสีมา จัดงานบุญยิ่งใหญ่ งานประเพณีโฮมบุญออกพรรษา “แห่กระธูป” หน้าที่ว่าการอำเภอหนองบัวแดง โดยมี พรศักดิ์ เจียรณัย ผวจ.ชัยภูมิ มาเป็นประธานเปิดงาน โดยขบวนแห่ต้นกระธูปทั้งหมด 9 ขบวน จะแห่ไปรอบๆ ตลาด ซึ่งในแต่ละขบวนก็จะมีการตกแต่งต้นกระธูปริ้วอย่างสวยงาม ขบวนฟ้อนรำ การแสดงต่างๆ ยาวเป็นกิโลเลยทีเดียว มีชาวบ้านมาคอยเฝ้าดูขบวนแห่กันตั้งแต่เช้าตลอดสองข้างทางที่ขบวนผ่าน ส่วนในช่วงกลางคืนก็จะมีการจุดกระธูปบูชาพระรัตนตรัยเป็นเวลา 3 คืน คืนขึ้น 14 ค่ำ เรียกว่าจุดไต้น้ำมันน้อย คืนขึ้น 15 ค่ำ เรียกว่าจุดไต้น้ำมันใหญ่ และแรม 1 ค่ำ เรียกว่าจุดไต้น้ำมันล้างหางประทีป นอกจากนั้น ยังมีการแสดง การละเล่นพื้นบ้าน การฟ้อนรำเป็นเวลา 3 คืน ถือว่าเป็นงานประเพณีประจำปีที่ได้รับความสนใจจากคนใน อ.หนองบัวแดง และนักท่องเที่ยวต่างถิ่นเป็นจำนวนมาก

ตีคลีไฟ

กีฬาพื้นบ้านแห่งบ้านหนองเขื่อง ต.กุดตุ้ม อ.เมือง จ.ชัยภูมิ เป็นการละเล่นโบราณที่มีมากว่า 60 ปี และมีที่เดียวในประเทศไทย ประวัติความเป็นมาเรื่องเล่าจาก หล้า วงษ์นรา ผู้ใหญ่บ้านบ้านหนองเขื่อง เล่าว่า การเล่นตีคลีมีมาตั้งแต่ปี 2489 สมัยก่อนชาวบ้านเรียกกันว่า “คลีโหล๋น” การเล่นก็มีกติกาง่ายๆ ใครตีได้ไกลกว่าเป็นฝ่ายชนะ

ที่มาเกิดมาจากสมัยนั้นตามชนบทยังไม่มีไฟฟ้า น้ำประปา ชาวบ้านหลังจากเสร็จงานทำไร่ ทำนา ตอนเย็นก็จะเดินไปอาบน้ำตามลำห้วย ลำคลอง ช่วงหน้าหนาวอากาศก็หนาวจัด ระหว่างที่รออาบน้ำก็นึกสนุกอยากออกกำลังแก้หนาว ด้วยความที่พื้นที่แถบนั้นมีกอไผ่มาก ก็เลยเอาเหง้าไผ่มาทำเป็นไม้ตีกับก้อนไม้ที่มีอยู่แถวนั้น แล้วก็ตีกันเล่นตามประสาคนบ้านนอก จากนั้นทุกเย็นก่อนอาบน้ำชาวบ้านหนองเขื่องก็จะเล่นคลีโหล๋นกันแทบทุกวัน พออาทิตย์ใกล้จะลับขอบฟ้าก็มีการก่อกองไฟเพื่อให้แสงสว่างและไว้นั่งผิงไฟ แก้หนาวไปด้วย แต่มีอยู่วันหนึ่งระหว่างที่เล่นกันอยู่ บังเอิญว่าก้อนไม้ดันกลิ้งเข้าไปในกองไฟ แต่ด้วยความมันในอารมณ์ยังอยากจะสนุกต่อ ก็เขี่ยเจ้าก้อนไม้นั้นออกมาเล่นกันอีก ด้วยความที่ก้อนไม้เป็นไม้เนื้อเบา ทำให้ติดไฟง่ายหลังจากเขี่ยออกมาแล้วลูกไม้ก็ถูกเผาเป็นถ่านแดงๆ แต่ชาวบ้านก็ปล่อยเลยตามเลย ตีมันทั้งที่เป็นลูกไฟอย่างนั้น

 

ปกติการเล่นคลีโหล๋นจะเล่นกันในช่วงเย็นๆ ซึ่งเล่นได้พักเดียวฟ้าก็มืด มองไม่เห็นลูก ชาวบ้านก็เลยปรับเปลี่ยนวิธีเล่น ด้วยการเอาไม้ต้นนุ่นหรืองิ้วที่มีลักษณะเป็นไม้เนื้อเบามาเหลากลึงให้เป็น ลูกกลมๆ คล้ายลูกบอล เพื่อที่จะตีให้ง่ายขึ้นแล้วเอาไปเผาไฟ เพื่อสามารถที่จะเล่นในเวลากลางคืนได้ เพราะจะมองเห็นลูกไฟเวลาตี เลยทำให้เกิดเป็นการละเล่นพื้นบ้านที่เรียกกันว่าตี “คลีไฟ” จากนั้นมา

หลังจากที่เล่นกันเองในหมู่บ้านแล้ว ตอนหลังก็มีการแข่งขันกันระหว่างหมู่บ้านใกล้เคียง โดยใช้กติกาคล้ายๆ กับการเล่นฮอกกี้มาใช้ ไม้ตีใช้เหง้าไม้ไผ่ที่มีลักษณะแบบตะขอยาว 1 เมตร ลูกบอลใช้ไม้นุ่นหรืองิ้วขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 10-15 เซนติเมตร ทั้งลูก ไม่ต้องเสียตังค์ซื้อ

เล่นตีคลีไฟจะใช้สนามฟุตบอลในการแข่งขัน มีแบบทีม 11 คน และ 7 คน เวลาแข่งขันแบ่งเป็นสองครึ่ง ครึ่งละ 15 นาที พัก 10 นาที มีจัดการแข่งขันขึ้นทุกปีในช่วงเทศกาลออกพรรษา ผมไปเห็นมาแล้วบอกได้คำเดียวว่ามันส์สะใจจริงๆ มีทั้งความสนุกสนานปนด้วยความฮา จะไม่ฮาได้ยังไงก็อีตอนที่ลูกไฟตกใส่หัวคนเล่นต้องทิ้งไม้ปัดสะเก็ดไฟออก เป็นพัลวัน หรือตอนที่นักกีฬาเข้าแย่งลูกไฟแล้วเสียจังหวะลงไปนั่งทับแล้วอะไรจะเกิด ขึ้น นักกีฬาคนนั้นก็กระโดดผึงตัวลอยเลยสิ กองเชียร์ข้างสนามหัวเราะกันอย่างสนุกสนาน เชียร์กันมันส์หยด หากตีไปแล้วลูกแตกหรือไฟดับก็มีลูกสำรองที่เผารออยู่ข้างสนามอีกเพียบ เรียกว่าตีกันได้ทั้งคืน ถ้าไม่หมดเรี่ยวหมดแรงซะก่อน


รักษ์ไม้,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,มูลไส้เดือนดิน,การเลี้ยงไส้เดือน,ปุ๋ยอินทรีย์,ปุ๋ยชีวภาพ

Tags : โฮมบุญออกพรรษา แห่กระธูป

view