จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
นาซาฟันธงโลกยังไม่ดับในปี 2012 ตามที่หลายคนหวาดหวั่นว่าในวันที่ 21 ธ.ค.ของปีใหม่นี้โลกจะถูกดาวเคราะห์พุ่งชน แต่องค์การอวกาศสหรัฐฯ ยืนยันในวันดังกล่าวนั้นจะไม่มีอะไรเกิดมากไปกว่าเป็นวันที่มีกลางคืนยาวนาน ที่สุดในรอบปี
เป็นที่พูดถึงมานานข้ามปีถึงวันสิ้นสุดปฏิทินรอบยาวของชาวมายาในวัน ที่ 21 ธ.ค.2012 ซึ่งหลายคนเชื่อว่าในวันเห-มายัน (winter solstice) ดังกล่าวจะเป็นวันสิ้นโลก เนื่องจากเป็นวันครบรอบ 144,000 วันของวัฏจักรปฏิทินมายา ซึ่งเริ่มขึ้นในวันสร้างโลกตามตำนานชาวมายา และได้วนซ้ำมาแล้ว 12 ครั้ง โดยในครั้งที่ 13 จะสิ้นสุดในวันดังกล่าว ซึ่งครบรอบ 5,200 ปีของตำนานสร้างโลก
หนึ่งในความกลัววันสิ้นโลกคือความเชื่อว่า “ดาวนิบิรุ” (Nibiru) หรือดาวเคราะห์เอกซ์ (Planet X) จะพุ่งชนโลก โดยผู้ที่อ้างตัวว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องดาวนิบิรุนามว่า “แนนซี ไลเดอร์” (Nancy Lieder) ซึ่งกล่าวว่าเธอสามารถติดต่อกับมนุษย์ต่างดาวจากดาว “เซตา เรติคูลิ” (Zeta Reticuli) คือคนแรกที่ระบุว่าดาวนิบิรุจะเป็นสาเหตุของหายนะล้างโลกในเดือน พ.ค. 2003 และได้เปลี่ยนคำทำนายเป็นวันที่ 21 ธ.ค.2012 แทน หากแต่ไม่มีหลักฐานที่ชี้ว่าดาวดังกล่าวมีอยู่จริง
“ดาวนิบิรุเป็นเรื่องเหลวไหล เพราะมันไม่มีอยู่จริง มันไม่เคยมีอยู่จริงมากไปกว่าเรื่องที่กุขึ้นโดยจินตนาการของนักวิทยาศาสตร์ เทียม (pseudo-scientist) ผู้ดูเหมือนไม่เดือดเนื้อร้อนใจจากการขาดหลักฐานสนับสนุนอย่างสิ้นเชิง” ดอน ยีโอมานส์ (Don Yeomans) ผู้จัดการโครงการวัตถุใกล้โลก (Near-Earth Object) จากห้องปฏิบัติการจรวดขับเคลื่อนความดัน (Jet Propulsion Laboratory) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ให้ความเห็นแก่ทางสเปซด็อทคอม
ยีโอมานส์บอกด้วยว่าหากดาวดังกล่าวจะพุ่งชนโลกในวันที่ 21 ธ.ค.จริง เราคงจะเห็นดาวดวงนี้ด้วยตาเปล่าแล้ว ส่วนเรื่องดวงอาทิตย์จะตัดเข้าไปอยู่ด้านหน้าระนาบของกาแลกซีเรานั้น หากมองจากมุมของโลกแล้วดวงอาทิตย์ก็เคลื่อนตัดระนาบกาแลกซีเป็นประจำปีละ 2 ครั้งอยู่แล้ว ส่วนการตัดระนาบกาแลกซีจริงๆ ต้องใช้เวลาหลายล้านปี เพราะดวงอาทิตย์อยู่ห่างระนาบกาแลกซี 67 ปีแสง และหากปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริงก็ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ
นอกจากนี้ยังมีข้ออ้างเรื่องแรงโน้มถ่วงจากการเรียงตัวของดาวเคราะห์ ที่จะส่งผลกระทบต่อโลก แต่นับจากวันนี้ถึงวันที่ 21 ธ.ค. 2012 ไม่มีการเรียงตัวของดาวเคราะห์อย่างแน่นอน แต่ถึงจะมีจริงก็ไม่ได้สร้างปัญหาอะไร เพราะวัตถุที่มีผลกระทบตอโลกในด้านแรงโน้มถ่วงนั้นมีเพียง “ดวงอาทิตย์” และ “ดวงจันทร์” เท่านั้น ซึ่งเราเห็นได้จากปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลง ส่วนแรงโน้มถ่วงจากดาวเคราะห์ดวงอื่นในระบบสุริยะนั้นมีผลต่อโลกน้อยมาก และดาวเคราะห์ของเราก็รับมือกับแรงโน้มถ่วงของดาวเคราะห์เพื่อนบ้านมาหลาย ล้านปีแล้ว
ส่วนพายุสุริยะที่ส่งอนุภาคมีประจุมายังโลกนั้นจะทำให้เกิดแสงเหนือ แสงใต้หรือออโรรา (aurora) และสร้างความเสียหายต่อดาวเทียมและสายส่งไฟฟ้าได้ แต่ก็ไม่ได้สร้างความเสียหายถาวร แม้ว่าจะมี “มหาพายุสุริยะ” ซึ่งเคยปะทะโลกเมื่อปี 1859 แต่ได้สร้างความเสียหายเล็กน้อยจากเหตุการณ์ดังกล่าว แต่อาจสร้างความเสียหายอย่างมหาศาลในโลกปัจจุบันที่พึ่งพิงอุปกรณ์ อิเล็กทรอนิกส์มากกว่าในอดีต หากแต่ยีโอมานส์แจงว่ายังไม่มี่หลักฐานว่าจะเกิดพายุสุริยะรุนแรงเช่นนั้น อีกในวันที่ 21 ธ.ค.
รักษ์ไม้,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,มูลไส้เดือนดิน,การเลี้ยงไส้เดือน,ปุ๋ยอินทรีย์,ปุ๋ยชีวภาพ