จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
สกว.-นักวิจัยแม่โจ้พัฒนาระบบหมุน เวียนอากาศในห้องรมแก๊สอบลำไย ได้ลำไยที่สดว่า เปลือกสีสวย ไม่เหม็นกลิ่นแก๊ส ลดสารตกค้างเกินมาตรฐาน และได้วิธีใหม่ทดแทนการเผาผงกำมะถัน ลดความเสี่ยงโรงงานระเบิด
ผศ.จักรพงษ์ พิมพ์พิมล อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดเผยถึงทางเลือกใหม่ของการเก็บรักษาลำไยสดว่า การรมแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์เป็นการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวที่จำเป็นสำหรับ การขนส่งลำไยสดโดยเฉพาะส่งออกต่างประเทศ เพื่อควบคุมโรคและยืดอายุการเก็บรักษา รวมทั้งฟอกสีผิวลำไยให้มีสีสวยและเป็นที่ดึงดูดใจลูกค้าหรือของผู้บริโภค ซึ่งวิธีปฏิบัติเชิงการค้าที่นิยมในปัจจุบัน คือ การเผากำมะถันผงในอากาศโดยใช้ระบบหมุนเวียนอากาศแบบปกติ ทำให้เกิดสารตกค้างเกินค่ามาตรฐานการส่งออก และหากไม่ระมัดระวังจะมีความเสี่ยงในการระเบิดจากการเร่งการเผาไหม้
ผศ.จักรพงษ์ พิมพ์พิมล กับแบบจำลองระบบหมุนเวียนอากาศใหม่ในห้องอบลำไย
จากปัญหานี้ทำให้ต้องหาทางเลือกใหม่โดยการดำเนินงานวิจัยพัฒนาเทคนิค และวิธีการใหม่ เพื่อให้เกิดการยอมรับของตลาดและความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยได้รับทุนสนับสนุนจากฝ่ายเกษตร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) นั่นคือ การนำระบบหมุนเวียนอากาศแบบบังคับเข้ามาใช้กระบวนการรม เพื่อให้แก๊สสัมผัสกับลำไยได้ดีขึ้นและลดระดับความเข้มข้นของซัลเฟอร์ ไดออกไซด์ และการนำแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์จากถังอัดความดันโดยตรงมาใช้ทดแทนการเผาผง กำมะถัน เพื่อให้มีมาตรฐานหรือได้รับการยอมรับจากต่างชาติมากขึ้น
ผลการศึกษาและองค์ความรู้ที่ได้รับคือระบบหมุนเวียนอาศแบบบังคับแนว ตั้งสามารถลดระดับความเข้มข้นของซัลเฟอร์ไดออกไซด์หลังสิ้นสุดการรมให้เหลือ 4,000 พีพีเอ็ม (ppm) หรือประมาณ 4-5 เท่าเมื่อเทียบกับวิธีปฏิบัติเชิงการค้าในปัจจุบัน ส่วนการเกิดโรคและการเกิดสีน้ำตาลที่เปลือกผล พบว่าสามารถควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ การรมแก๊สไม่เกิดความร้อนเหมือนกับการเผาผงกำมะถันทำให้เปลือกสดใสกว่า โดยใช้เวลาในการทำงานต่อรอบประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง กำลังการผลิตครั้งละ 4 ตัน สามารถคงความสดอยู่ได้ไม่ต่ำกว่า 20 วัน นอกจากนี้ยังมีวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรบ้านเกี๋ยงดอย อ.เทิง จ.เชียงราย และวิสาหกิจชุมชนบ้านสันเวียงทอง อ.เชียงคำ จ.พะเยา นำระบบดังกล่าวไปใช้เช่นกัน
ภายในห้องอบแก๊สที่มีการปรับเปลี่ยนระบหมุนเวียนอากาศ
ทั้งนี้ ห้องรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ด้วยระบบบังคับอากาศแนวตั้งนี้ออกแบบขึ้นมาเป็นต้น แบบของห้องมาตรฐานระดับกึ่งการค้าที่สามารถจุผลลำไยได้สูงสุดครั้งละ 6 แท่นรองสินค้า หรือเท่ากับ 360 ตะกร้า คิดเป็นกำลังการผลิตต่อรอบ 4,140 กิโลกรัม โดยห้องดังกล่าวประกอบด้วยโครงสร้างห้อง ระบบบังคับอากาศแนวตั้งที่ประกบอด้วยพัดลมแบบท่อ ชุดฝาชีครอบท่อลมพร้อมผ้าใบ ตู้ควบคุมการทำงานของระบบพร้อมอุปกรณ์ปรับความเร็วรอบพัดลม
นอกจากนี้ในห้องรมแก๊สยังมีชุดปล่อยแก๊สที่ประกอบด้วย ถังแก๊ส เครื่องชั่งแบบตัวเลขไฟฟ้า ระบบท่อกระจายแก๊ส และหอกำจัดแก๊สซึ่งประกอบด้วย ชุดหัวฉีดและชั้นแพ็คกิง พัดลมแบบทรงกระบอก ปั๊มน้ำ อ่างน้ำปูนขาว และตู้ควบคุมการทำงานของระบบ โดยมีขั้นตอนการปฏิบัติงานคล้ายกับการเผาผง เริ่มจากการจัดเรียงตะกร้าบนแท่นรองสินค้า โดยจัดเรียงให้ขอบตะกร้าชิดกันและไม่ให้มีช่องว่างเกิดขึ้น จากนั้นนำแท่นรองสินค้าเข้าจัดเรียงให้ห้องรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ให้ตรงกับตำแหน่งของฝาชีครอบ แล้วคลุมผ้าใบปิดทั้งสี่ด้าน ปิดตู้และเปิดพัดลมเพื่อบังคับและหมุนเวียนแก๊สเข้าไปโดยใช้เครื่องชั่งเป็น ตัวกำหนดเพื่อให้ลำไยสัมผัสอากาศ จากนั้นทำการกำจัดแก๊สที่เหลือภายในห้องรมแก๊สโดยการดูดอากาศภายในห้องผ่าน เข้าไปยังหอกำจัดแก๊ส
ลำไยที่ผ่านการอบแก๊สด้วยระบบหมุนเวียนอากาศแบบใหม่
สำหรับผู้ประกอบการนั้นมีแนวทางการเลือกใช้งานเชิงการค้า แบ่งได้เป็น 2 แนวทาง คือ การสร้างห้องรมแก๊สซัลเฟอร์ขึ้นมาใหม่ ซึ่งใช้งบประมาณ 4.75 แสนบาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตัววัสดุที่ใช้ อีกแนวทางหนึ่งคือการดัดแปลงห้องรมเดิมให้เป็นระบบบังคับอากาศแนวตั้ง โดยได้นำไปทดลองติดตั้งที่บริษัท ไทยฮง ผลไม้ จังหวัดจันทบุรี มีค่าติดตั้ง 3.25 แสนบาทต่อห้อง ซึ่งแม้ต้นทุนจะแพงกว่าวิธีเดิม 20 สตางค์ แต่ ผศ.จักรพงษ์กล่าวว่าได้คุณภาพลำไยดีกว่าทั้งเรื่องความสด กลิ่นไม่ฉุน รสชาติอร่อยกว่า ซึ่งขณะนี้ผู้ประกอบการได้ใช้วิธีที่พัฒนาขึ้นและส่งออกไปยังฮ่องกง
ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ผศ.จักรพงษ์ โทร. 053 873922 และ 053 878117 หรือศูนย์วิจัยและพัฒนาลำไยแม่โจ้ 053 873390
รักษ์ไม้,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,มูลไส้เดือนดิน,การเลี้ยงไส้เดือน,ปุ๋ยอินทรีย์,ปุ๋ยชีวภาพ