จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
ผลมังคุดคุณภาพส่งออกจากสวนมังคุดของกลุ่มเกษตรกรที่แก้ปัญหามังคุดขาดธาตุ
สังกะสีด้วยการฉีดพ่นปุ๋ยสังกะสีให้มังคุดเมื่อเริ่มแตกใบอ่อน
ธาตุสังกะสี เป็นหนึ่งในธาตุอาหารจำเป็นของพืช แต่วันนี้ "มังคุด" ที่ได้ชื่อว่าเป็นราชินีผลไม้ของไทย กำลังประสบกับภาวะขาดแคลนธาตุสังกะสีอย่างรุนแรง จนส่งผลกระทบต่อผลผลิตมังคุดส่งออก
เมื่อปี 2540 รศ.ดร.สุมิตรา ภู่วโรดม นักวิจัยสาขาเทคโนโลยีการผลิตพืช คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เริ่ม สังเกตพบว่า สวนผลไม้ในภาคตะวันออกของไทยส่วนใหญ่ ขาดธาตุสังกะสี โดยเฉพาะมังคุดและทุเรียน ที่แสดงอาการขาดธาตุสังกะสีให้เห็นมากกว่าผลไม้ชนิดอื่นๆ จึงเริ่มศึกษาวิจัยเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
"สังกะสีเป็น 1 ใน 16 ธาตุอาหารจำเป็นของพืชที่ต้องได้รับ หากขาดไปจะทำให้พืชจะเจริญเติบโตได้ไม่ครบวงจรชีวิต เช่น อาจไม่มีดอก ไม่ออกผล หรือหากได้รับธาตุสังกะสีไม่เพียงพอ พืชจะแสดงอาการผิดปกติออกมา ได้แก่ ใบเล็กและแข็ง ข้อใบสั้น ทำให้ใบรวมกันเป็นกระจุก ส่งผลให้พืชทำการสังเคราะห์ด้วยแสงได้ไม่เต็มที่ ทำให้การเจริญเติบโตหยุดชะงัก อ่อนแอ และเป็นโรคง่าย ซึ่งพบในพืชผลหลายชนิดในภาคตะวันออก โดยเฉพาะมังคุดและทุเรียนที่พบมากกว่าผลไม้อื่น" รศ.ดร.สุมิตรา อธิบายแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ และสื่อมวลชนระหว่างเข้าเยี่ยมชมสวนมังคุดส่งออกของเกษตรกรใน จ.จันทบุรี ที่จัดโดยบริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด เมื่อวันที่ 27 พ.ค. ที่ผ่านมา
นักวิจัย สจล. กล่าวต่อว่า จากการศึกษาวิจัยพบว่า การขาดธาตุสังกะสีของพืชในภาคตะวันออกเกิดส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการใส่ปุ๋ยฟอสฟอรัสมากเกินไปเป็นเวลายาวนานจาก ความไม่รู้ของเกษตรกร เนื่องจากเชื่อว่าการใส่ปุ๋ยเอ็น-พี-เค (N-P-K) ตามปกตินันเพียงพออยู่แล้ว และเมื่อใช้ปุ๋ยสูตรดังกล่าวมากเกินไปจะทำให้มีฟอสฟอรัส (P) ในดินสูง ซึ่งฟอสฟอรัสในดินจำนวนมากนั้นจะไปขัดขวางการดูดซับธาตุสังกะสีในดินของพืช ส่งผลให้พืชที่เจริญเติบโตบริเวณนั้นขาดธาตุสังกะสีได้
การแก้ปัญหาพืชขาดธาตุสังกะสีสามารถทำได้โดยการให้ปุ๋ยสังกะสีเพิ่ม ในดิน แต่เนื่องจากสวนผลไม้ในภาคตะวันออกมีฟอสฟอรัสในดินสูงมาก การให้ปุ๋ยสังกะสีในดินจึงไม่มีผลใดๆ และอาจต้องใช้เวลายาวนานหลายสิบปีจึงจะทำให้ฟอสฟอรัสในดินลดลงจนหลือปริมาณ ที่เหมาะสมโดยที่ไม่ต้องใส่ปุ๋ยฟอสฟอรัสเพิ่มเข้าไปอีก
ฉะนั้นต้องให้ปุ๋ยสังกะสีโดยวิธีฉีดพ่นทางใบแทน โดยให้ฉีดพ่นปุ๋ยสังกะสีทุกครั้งเมื่อมังคุดเริ่มแตกใบอ่อนจะสามารถช่วยให้ใบใหม่ไม่ขาดธาตุสังกะสี พืชแข็งแรง ออกดอกสม่ำเสมอ ผลใหญ่ เปลือกมีผิวสวย เรียบเนียน และไม่มีคราบน้ำยางเกาะติดที่ผิวเปลือก
รศ.ดร.สุมิตรา เผยอีกว่ายังมีปัญหาสำคัญที่ยังพบมากในผลผลิตมังคุดคือ มังคุดเป็นเนื้อแก้ว และยางไหล ซึ่งเกิดจากมังคุดได้รับน้ำฝนมากเกินไปจนทำให้เซลล์ของเนื้อมังคุดแตกและ กลายเป็นเนื้อแก้ว ส่วนปัญหายางไหลเกิดจากท่อน้ำยางแตกเมื่อมีแรงดันมากเกินไป ซึ่งวิธีแก้ปัญหาคือเกษตรกรต้องเก็บเกี่ยวมังคุดให้ได้ก่อนเริ่มเข้าฤดูฝน แต่เมื่อไม่สามารถทำดังนั้นได้ จึงจำเป็นต้องทำให้มังคุดมีความแข็งแรงพอที่จะทนทานต่อสภาวะดังกล่าวได้
"ธาตุสังกะสีช่วยให้พืชมีความสมบูรณ์แข็งแรงได้ในระดับภาพรวม แต่จากการศึกษาพบว่าธาตุแคลเซียมสามารถช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับเซลล์ เนื้อมังคุดและท่อน้ำยางได้ โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการวิจัยการเพิ่มแคลเซียมให้มังคุดในปริมาณที่ เหมาะสมเพื่อลดปัญหาเนื้อแก้วและยางไหล ซึ่งจะทำให้มังคุดมีคุณภาพดียิ่งขึ้น" รศ.ดร.สุมิตรา เผย ซึ่งนักวิจัยได้รับทุนวิจัยต่อเนื่องจาก คณะเทคโนโลยีการเกษตร สจล. และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยในการศึกษาความต้องการธาตุอาหารของพืชใน สวนมังคุด ทุเรียน และสละ ตั้งแต่ปี 2541 ถึงปัจจุบัน
ด้านนางสงวน บุญญฤทธิ์ เกษตรกรเจ้าของสวนมังคุดรายหนึ่งใน จ.จันทบุรี ที่ครอบครัวทำสวนมังคุดมายาวนานร่วม 50 ปี บนพื้นที่ราว 150 ไร่ และเป็นเกษตรกรรายแรกๆ ที่เริ่มหันมาสนใจการเพิ่มธาตุสังกะสีให้มังคุด เปิดเผยว่า ก่อนหน้าที่ รศ.ดร.สุมิตราจะเข้ามาทำวิจัย ผลผลิตมังคุดเริ่มไม่ค่อยดี
แต่หลังจากทดลองฉีดพ่นปุ๋ยสังกะสีให้มังคุดตามคำแนะนำของนักวิจัยก็ พบว่าผลผลิตมังคุดเริ่มมีคุณภาพดีขึ้น ผลใหญ่ขนาดตั้งแต่ 70-90 กรัมขึ้นไป ผิวมัน เปลือกบาง ไม่เป็นกระ เนื้อขาวสวย รสชาติหวาน ไม่ค่อยพบเนื้อแก้วหรือยางไหลมากเหมือนแต่ก่อน
จากเดิมที่สามารถส่งออกได้เพียงประมาณ 30% ปัจจุบันส่งออกมังคุดได้มากกว่า 70% โดยตลาดส่วนใหญ่อยู่ในจีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และยุโรป แต่กว่าจะประสบผลสำเร็จได้ขนาดนี้ ต้องใช้เวลานานประมาณ 6 ปี
อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญในการแก้ปัญหามังคุดขาดธาตุสังกะสี ที่นักวิจัยต้องเผชิญคือ ความไม่เชื่อถือจากเกษตรกร เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่มักเชื่อตามความรู้สึกของตนเอง เชื่อตามวิธีเดิมที่ปฏิบัติมาเป็นเวลานาน
รศ.ดร.สุมิตรา จึงแนะนำว่า สิ่งที่เกษตรกรควรทำคือนำตัวอย่างดินไปวิเคราะห์อย่างสม่ำเสมอเพื่อให้รู้ ปริมาณธาตุอาหารที่ควรเติมลงในดิน และนำตัวอย่างใบมังคุดวิเคราะห์เพื่อให้รู้ว่าพืชขาดธาตุอาหารใดบ้าง จะได้ให้ปุ๋ยพืชที่มีธาตุอาหารเหมาะสมและครบถ้วน
นอกจากนั้น รศ.ดร.สุมิตรา ยังให้ความรู้เพิ่มเติมว่า สังกะสีเป็นธาตุอาหารจำเป็นต่อพืช และเป็นธาตุอาหารจำเป็นต่อมนุษย์เช่นกัน และมีรายงานวิจัยว่าการขาดธาตุสังกะสีและวิตามินเอจะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของมนุษย์มากที่สุด โดยผู้ที่ขาดธาตุสังกะสีจะมีร่างกายแคระแกร็น ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ป่วยเป็นโรคง่าย และมีผลต่อระบบการทำงานในสมอง
ดังนั้นการบริโภคอาหารที่มีแร่ธาตุสังกะสีในปริมาณที่เหมาะสมจะช่วย แก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ซึ่งธาตุสังกะสีพบมากในเนื้อสัตว์ ปลา ข้าว ธัญพืช รวมทั้งผักสีเขียว และการให้ปุ๋ยสังกะสีในมังคุดหรือพืชอาหารอื่นๆ ยังช่วยลดอาการขาดธาตุสังกะสีในมนุษย์ได้ด้วยเช่นกัน
รักษ์ไม้,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,มูลไส้เดือนดิน,การเลี้ยงไส้เดือน,ปุ๋ยอินทรีย์,ปุ๋ยชีวภาพ