จาก เดลินิวส์ออนไลน์
นายอ่าง เทียมสำโรง เกษตรกร หมู่ 6 บ้านกลาง ต.บ่อปลาทอง อ. ปักธงชัย จ.นครราชสีมา เป็นหนึ่งของเกษตรกรที่หันมาทำการเกษตรในระบบเกษตรอินทรีย์และประสบความ สำเร็จตามเป้าหมายโดยมี สหกรณ์ลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมาให้การส่งเสริมและสนับสนุน
นายอ่างได้เล่าให้ฟังว่าตนใช้พื้นที่ 3 ไร่ ปลูกข้าวหอมมะลิ 105 โดยทำเป็นเกษตรอินทรีย์ ด้วยวิธีใช้ต้นกล้าต้นเดียวจากเมล็ดพันธุ์เมล็ดเดียวต่อข้าวหนึ่งกอ โดยเริ่มต้นจากการเตรียมเมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ คัดเลือกเมล็ดข้าวที่สมบูรณ์ คือ อวบ ใส และมีตาข้าว แช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำประมาณ 12-24 ชั่วโมง ในน้ำอุ่น 30-40 องศาเซลเซียส จากนั้นผึ่งลมให้แห้ง แปลงเพาะกล้าทำเหมือนแปลงผัก ผสมปุ๋ยคอกเพื่อให้ดินร่วนซุย เอาฟางคลุมรดน้ำให้ชุ่มชื้นในช่วงเช้าและเย็น
เตรียมแปลงปักดำหลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตโดยไถกลบตอซัง แล้วบำรุงดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์ หว่านในนา ปรับที่นาให้ได้ระดับเดียวกัน ทำร่องน้ำตามขอบคันนาเพื่อช่วยในการระบายน้ำเข้า-ออก ปล่อยน้ำเข้าแปลงนาให้ดินเป็นโคลนเหนียวข้น จากนั้นไปถอนกล้าเป็นกล้าที่มีอายุ 8-12 วัน มีใบ 2 ใบ ถอนเบา ๆ ตรงโคนต้น ไม่ให้ต้นกล้าหลุดออกจากเมล็ดพันธุ์และให้มีดินเกาะรากไว้นิดหน่อย และรีบนำกล้าไปปักดำทันที ภายใน 15-30 นาที
ใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้จับโคนราก แล้วนำไปปักให้รากอยู่ในแนวนอนลึกประมาณ 1 เซนติเมตร ปักดำกล้าทีละต้น ให้มีความห่างของระยะต้นไม่น้อยกว่า 25 เซนติเมตรเท่า ๆ กัน จนเหมือนสี่เหลี่ยมจัตุรัส ปักดำในระยะห่าง 30x30 เซนติเมตร สำหรับแปลงนาขนาดเล็ก หรือ 40x40 เซนติเมตร สำหรับแปลงนาขนาดใหญ่ ปล่อยน้ำเข้านาให้สูง 2 เซนติเมตรทุก ๆ เช้า แล้วปล่อยออกในช่วงบ่าย หรือสามารถปล่อยทิ้งให้นาแห้งประมาณ 2-6 วัน เมื่อข้าวแตกกอ ปล่อยให้แปลงข้าวแห้งลงไปในเนื้อดิน จนเป็นรอยแตกบนผิวโคลน
ขณะที่ข้าวตั้งท้องจนเริ่มออกรวง ปล่อยให้น้ำท่วมสูงประมาณ 1-2 เซนติเมตร ทันทีที่ต้นข้าวเริ่มลู่ลง เพราะน้ำหนักของเมล็ดข้าว ก็จะปล่อยน้ำออกจากนาจนกว่าจะแห้งและถึงเวลาเก็บเกี่ยว กำจัดวัชพืช 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 เมื่ออายุข้าว 10 วัน ครั้งที่ 2 เมื่ออายุข้าว 25-30 วัน ครั้งที่ 3 เมื่ออายุข้าว 50-60 วัน โดยการถอนด้วยมือ สำหรับการกำจัดศัตรูของข้าว เช่น ปู หอยเชอรรี่ เลี้ยงกบ และเป็ดในนาข้าว เพื่อกินศัตรูพืชเหล่านั้นแต่เมื่อข้าวออกรวงจะไม่ให้เป็ดเข้านา
ประโยชน์และผลดีในการใช้กล้าอายุสั้นและปักดำต้นเดียวต้นกล้าที่มีอายุ 8-12 วัน หรือมีใบเล็ก ๆ สองใบ และยังมีเมล็ดข้าวอยู่นั้น จะช่วยให้ประสิทธิภาพในการเจริญเติบโตดีและการผลิตหน่อจะมีมาก การใช้กล้าต้นเดียวปักดำ จะช่วยในการแพร่ขยายของราก สามารถดูดซับธาตุอาหารได้ดีกว่าปลูกกล้าหลายต้น การปักดำให้ปลายรากอยู่ในแนวนอน ปลายรากจะชอนไชลงดินได้ง่ายและทำให้ต้นข้าวตั้งตัวได้เร็ว การปักดำในระยะห่างช่วยให้รากแผ่กว้างและได้รับแสงแดดมากขึ้น ง่ายต่อการกำจัดวัชพืช และประหยัดเมล็ดพันธุ์ ทำให้ข้าวแตกกอใหญ่
และการปล่อยให้ข้าวเจริญเติบโตในดินที่แห้งสลับเปียกทำให้ข้าวสามารถดึง ออกซิเจนจากอากาศได้โดยตรง และรากของต้นข้าวสามารถงอกยาวออกเพื่อหาอาหาร ประหยัดเมล็ดพันธุ์ในการเพาะปลูก ประหยัดน้ำได้ครึ่งหนึ่งจากการทำนาแบบปกติ สามารถใช้ได้กับทุกสายพันธุ์ข้าว แต่หากต้องการผลผลิตสูงควรเลือกพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่ และสภาพอากาศและจากประสบการณ์ของ นายอ่าง เทียมสำโรง เกษตรกรสมาชิกสหกรณ์ ลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา พบว่าหากเป็นนาอินทรีย์ ผลผลิตจะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 60% ประหยัดแรงงานในการลงกล้า ประหยัดต้นทุนในการผลิต การกำจัดวัชพืชทำได้ง่าย เพราะมีช่องว่างระหว่างกอข้าว หรือการควบคุมน้ำเข้า-ออกทำได้ตามที่ต้องการ เมื่อได้ข้าวมากจากต้นทุนที่ต่ำก็แน่นอนว่ากำไรก็ย่อมที่จะเพิ่มขึ้นกว่าการ ปลูกด้วยวิธีเดิม ๆ และผลผลิตจากการปลูกข้าวในระบบนี้ของนายอ่าง ทางสหกรณ์ลำพระเพลิงได้เข้ามาสนับสนุนในการส่งเสริมการขายด้วย.
รักษ์ไม้,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,มูลไส้เดือนดิน,การเลี้ยงไส้เดือน,ปุ๋ยอินทรีย์,ปุ๋ยชีวภาพ