จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
คน ในเพื่อไทยแฉ “โครงการรับจำนำข้าว” ไม่มีฝ่ายวิชาการในพรรคเพื่อไทยหนุน เหตุเป็นโครงการด่วน ทำขึ้นมาเพื่อคะแนนเสียงเลือกตั้งเท่านั้น ซึ่งคิดมาก่อนเลือกตั้งไม่นานร่วมกับ ค่าแรง 300 บาท และนโยบายอุดหนุนเรื่องน้ำมัน พร้อมเผยเหตุให้ ธ.ก.ส.กู้เงินเพิ่ม เพราะหวังกลบตัวเลขหนี้สาธารณะด้วย ขณะที่นักวิชาการนิด้าจับมือทีดีอาร์ไอ เดินหน้าคัดค้านจนถึงที่สุด ก่อนระบบตลาดค้าข้าวไทยพังยับ เผยมีนักวิชาการพร้อมร่วมอีกเพียบ จี้รัฐฟัง “ดร.โกร่ง” ก่อนรัฐบาลพัง!
แค่เพียง 1 วันหลังคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติวงเงินและปริมาณการรับจำนำข้าวเปลือกปีการ ผลิต 2555/56 เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนรับจำนำข้าวเปลือก จำนวน 26 ล้านตัน (นาปี 15 ล้านตัน นาปรัง 11 ล้านตัน) เป็นจำนวนเงิน 405,000 ล้านบาท (นาปี จำนวน 240,000 ล้านบาท นาปรัง จำนวน 165,000 ล้านบาท)
ไม่น่าเชื่อว่าคนที่ออกมาค้านอย่างหนักจะชื่อ “ดร.โกร่ง-วีรพงษ์ รามางกูร” ที่ขณะนี้ถือเป็นคนสำคัญด้านการบริหารงานด้านการเงินการคลังของรัฐบาล และเป็นถึงประธานที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ผ่านมาทั้งนายกฯ ยิ่งลักษณ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็ให้เกียรติ ในฐานะเป็นนักวิชาการที่มีความรอบรู้ด้านเศรษฐกิจการเงินการคลังยิ่ง
ตั้งแต่เชิญให้ ดร.โกร่งมาเป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคต ประเทศ (กยอ.) เพื่อเดินสายสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติในวิกฤตการณ์น้ำท่วมในปี พ.ศ. 2554 เป็นพระเอกขี่ม้าขาวมาช่วยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดยเฉพาะการเจรจากับประเทศญี่ปุ่น และต่อมายังได้เข้ามาเป็นประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย จุดยุทธศาสตร์ด้านการบริหารการเงินการคลังหนึ่งของประเทศ
ก็ดูเป็นเหมือนพวกเดียวกันในสายตายิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาตลอด
แต่วันนี้ ดร.โกร่งถึงขนาดออกมาพูดว่า โครงการรับจำนำข้าวนี่แหละที่จะทำให้รัฐบาลพัง!
“ถ้ารัฐบาลชุดนี้จะพังก็คงเป็นเรื่องโครงการรับจำนำข้าว เพราะแค่ชื่อโครงการจำนำก็ผิดแล้ว ซึ่งราคาจำนำต้องต่ำกว่าราคาจริง แต่การให้ราคาจำนำสูงกว่า คงไม่มีใครมาไถ่ถอน ข้าวที่มาจำนำก็มีทั้งของจริง และสต็อกลม ไม่สามารถป้องกันการทุจริตได้ ซึ่งถ้ารัฐยังขายข้าวไม่ได้ ก็จะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงมาก” ดร.โกร่งให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน
เรื่องนี้ ดร.โกร่งกล่าวว่า ได้เสนอความคิดเห็นให้ทั้งนายกฯ ยิ่งลักษณ์ และกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไปแล้ว
การออกมาประกาศตัวไม่เห็นด้วยของ ดร.โกร่งครั้งนี้จึงเป็นนัยที่สำคัญยิ่งต่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และทำให้สถานการณ์การคัดค้านโครงการรับจำนำข้าวของคณาจารย์นิด้า (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์) ได้แรงเสริมมากขึ้นไปอีก ขณะเดียวกันการเคลื่อนไหวของ “ม็อบชาวนาแดง” ที่ปิดล้อมรั้วนิด้าเองก็ถูกลดทอนพลังความชอบธรรมลงไปไม่น้อย
เป็นเกษตรกร แต่ให้แกนนำเสื้อแดงพามา ภาพที่ต้องการสื่อว่าเป็นเกษตรกร หรือชาวนาที่ไม่เห็นด้วย มันจึงถูกลดทอนพลังไปอย่างช่วยไม่ได้
ล่าสุด กิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรี White lie ออกมายืนยันว่า รัฐบาลจะเดินหน้าโครงการนี้ต่อ แม้ ดร.โกร่งจะคัดค้าน
ดังนั้น ต่อจากนี้ไป ศึกการต่อสู้เรื่องการรับจำนำข้าวจะเป็นศึกใหญ่มากของรัฐบาล เพราะเป็นศึกที่ต่อสู้โดยตรงระหว่าง “นักวิชาการ” ที่ฟันตรงไปที่ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” แม้แต่นักวิชาการที่ช่วยพรรคเพื่อไทยมาโดยตลอดอย่าง ดร.โกร่ง เองก็ยังค้านอย่างหนัก
แฉไม่มีนักวิชาการหนุน-หาเสียงอย่างเดียว
คำถามคือ จริงๆ แล้วโครงการรับจำนำข้าวรอบ 2 นี้เป็นมาอย่างไรกันแน่ นักวิชาการสายไหนคนไหนกันแน่ที่คิดนโยบายให้พรรคเพื่อไทย?
คำตอบที่น่าตกใจคือ ไม่มีนักวิชาการคนไหนในพรรคเพื่อไทยเห็นด้วยเลย และนโยบายนี้ไม่ได้มีการเตรียมการในเชิงวิชาการมาเลย
“300 บาท, จำนำข้าว และการอุดหนุนราคาน้ำมัน 3 นโยบายนี้มาทีหลังสุดเลย เรียกว่ามาในวินาทีสุดท้าย ไม่เคยมีการประชุมจากฝ่ายวิชาการ โครงการเหล่านี้มาเพื่อผลประโยชน์ในการเลือกตั้งโดยเฉพาะ” แหล่งข่าวอดีตนักวิชาการที่เข้าไปช่วยงานในพรรคเพื่อไทย เปิดเผย
พร้อมยืนยันว่า ในช่วงเวลานั้น ซึ่งเป็นช่วงก่อนเลือกตั้ง ไม่มีการคำนวณผลกระทบใดๆ ทั้งสิ้น ที่น่าเป็นห่วงคือ ไม่มีการคำนวณมาตั้งแต่ต้นว่า จะต้องใช้เงินเท่าไร จะเอาเงินมาจากไหน และจะบริหารจัดการอย่างไร!
“ดร.โกร่งท่านเสนอค้านตั้งแต่สมัยที่คุณกิตติรัตน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์แล้ว ว่าไม่เห็นด้วย แต่คุณกิตติรัตน์ไม่ฟัง แถมเป็นคนวางกฎเกณฑ์ต่างๆ มาตั้งแต่แรก ซึ่งมันผิด”
แหล่งข่าวอดีตนักวิชาการท่านหนึ่งในพรรคเพื่อไทย ตั้งคำถามว่าใครเป็นคนออกกฎเกณฑ์ในส่วนของการปล่อยให้มีการจำนำข้าวข้ามเขต ได้ แค่เรื่องนี้เรื่องเดียวก็ทำให้เกิดปัญหาใหญ่มาก ทั้งการนำข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิ์ และยังพบว่าโกดังหนึ่งสามารถเอาข้าวในอีกโกดังหนึ่งมาหมุนเวียนรับจำนำข้าว ได้อีก การทุจริตมีมหาศาล
อนึ่ง โดยข้อเท็จจริงแล้ว การรับจำนำข้าว ประเทศไทยมีการทำมานานมาก คือมีการทำมาตั้งแต่สมัยพรรคกิจสังคมเป็นรัฐบาล แต่การจำนำข้าวแบบเดิมนั้น มักจะมีการจำนำในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด เช่น ราคาทองตอนนี้ 25,000 บาท ก็รับจำนำแค่ 20,000 บาท ดังนั้นเมื่อราคาข้าวในตลาดโลกสูง ชาวนาก็จะมาไถ่ถอนข้าวออกไปขายในท้องตลาด ตรงนี้นโยบายการรับจำนำข้าวจะไม่ทำลายกลไกตลาด และรัฐบาลไม่ต้องแบกภาระงบประมาณมาใช้ในโครงการจำนวนมาก
“ระยะหลังพรรคเพื่อไทยใช้วิธีหาเสียงกับชาวนาอย่างเดียว คืออยากให้เงินชาวนา แต่ไม่รู้จะให้ตรงไหนก็มาให้กับโครงการรับจำนำข้าว ตอนแรกที่ตั้งราคารับจำนำ ก็ตั้งสูงถึง 15,000 บาท/เกวียน แต่ราคาในตลาดโลกตอนนั้นแค่ 12,000 บาท มันไม่เหมาะสมตั้งแต่ต้น”
เมื่อมีนโยบายออกมาแล้วก็ต้องมีเงินมาดำเนินโครงการ ปกติการรับจำนำจะต้องบอกว่าขาดทุนนิดหน่อยหรือได้กำไรบ้าง แต่นโยบายรับจำนำข้าวในสมัยนี้มีคำเดียวคือ “ขาดทุนอย่างเดียว” ตรงนี้ใครรับผิดชอบ
“ที่อยากให้สังเกตคือ แล้วรัฐบาลจะเอาเงินมาจากไหน ล่าสุดที่เมื่อวานอนุมัติวงเงินอีก 4 แสนล้านบาทขึ้นมา”
สั่ง ธ.ก.ส.กู้เงิน-กลบตัวเลขหนี้สาธารณะ
ตรงนี้คือส่วนที่ซ่อนอยู่ แล้วไม่เป็นข่าวหรือไม่ คือรัฐบาลกำลังเตรียมให้ ธ.ก.ส.กู้เงิน
เมื่อไปดูผลการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา ก็เห็นภาพชัด โดยมีการระบุว่าให้รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังเข้ามาพิจารณาจัดหาเงินทุนให้ ธ.ก.ส. และรัฐบาลรับภาระชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยจากการกู้เงินและค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริง รวมทั้งผลขาดทุนที่เกิดขึ้นจากโครงการทั้งหมดเพื่อใช้ในการรับจำนำเสียด้วย
สรุปก็คือว่า รัฐบาลอนุมัติให้ ธ.ก.ส.กู้เงินเพิ่มจาก 105,910 ล้านบาท เป็น 120,000 ล้านบาท จากสถาบันการเงินของรัฐและเอกชน รวมทั้งให้ทำ Refinance เงินกู้เก่า โดยกระทรวงการคลังจะเป็นผู้รับภาระคืนเงินต้น และดอกเบี้ย ที่เกิดจากการกู้เงิน และค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นจริง
เงินส่วนนี้คือเงินภาษีประชาชน คนชั้นกลางที่ฝ่ายการเมืองนำไปใช้เพื่อหาเสียงของตัวเองใช่หรือไม่?
แหล่งข่าวอดีตนักวิชาการในพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ความจริงคือ จริงๆ รัฐบาลไม่มีเงิน ทางฝ่ายการเมืองที่คุมกระทรวงการคลังจึงไปสั่งให้ สบน. หรือสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กู้เงินมาใช้ในโครงการนี้ แต่ปรากฏว่า สบน.บอกว่าถ้ากู้มาจะทำให้ตัวเลขหนี้สาธารณะของรัฐบาลเพิ่มขึ้นได้
เมื่อย้อนไปดูตัวเลขหนี้สาธารณะ ปรากฏว่ารัฐบาลนี้มีความพยายามในการซ่อนหนี้สาธารณะระดับหนึ่งอยู่แล้ว โดยเฉพาะหนี้ในส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทย และการที่รัฐบาลเตรียมกู้เงิน 2.7 ล้านล้านบาทมาก็จะทำให้ตัวเลขหนี้สาธารณะที่ขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 43% ขึ้นไปถึงเกือบ 60% ของจีดีพี ซึ่งเป็นเพดานสูงสุดอยู่แล้ว
รัฐบาลจึงต้องหาทางออก โดยการให้ ธ.ก.ส.เป็นคนกู้เอง เพราะตัวเลขหนี้ที่รัฐวิสาหกิจเป็นคนกู้จะไม่ปรากฏในตัวเลขหนี้สาธารณะ
ซ่อนหนี้สาธารณะเพิ่มเข้าไปอีก!
นี่คือการบริหารงานที่พรรคเพื่อไทยกำลังเพลี่ยงพล้ำมากขึ้นไปทุกที ดังนั้นที่ ดร.โกร่งบอกว่า ถ้าไม่รีบทบทวนโครงการรับจำนำข้าวที่นอกจากจะทำลายกลไกตลาดแล้ว ยังมีการทุจริตมหาศาล รัฐบาลนี้จะพังเพราะเรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องที่พูดเกินเลย
นิด้าจับมือทีดีอาร์ไอจี้รัฐเลิกจำนำข้าว
รออีกไม่นาน เชื่อว่ารัฐบาลพังแน่ ถ้ายังเชื่อ “กิตติรัตน์” แค่ White lie ก็ระทมแล้ว ยังมาเจอศึกนักวิชาการรุมต้านโครงการรับจำนำข้าวอีก
อย่าลืมว่า โครงการรับจำนำข้าวนี้ ได้รับการคัดค้านมาตั้งแต่ต้นของนักวิชาการสถาบันวิจัยและพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ โดยคนนำคือ “ดร.นิพนธ์ พัวพงศธร” ประธานสถาบันที่ศึกษาโครงการรับจำนำข้าวตั้งแต่สมัยทักษิณ 1 และมีตัวเลขยืนยันได้ว่ารัฐบาลต้องขาดทุนในโครงการนี้ในตัวเลขเกิน 1 แสนล้านบาท และเกษตรกรได้รับประโยชน์น้อยที่สุดคือได้ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ส่วนเงินก้อนใหญ่อีก 5 หมื่นล้านบาทนั้น เป็นตัวเลขที่หายไปในระหว่างดำเนินการ
ดร.นิพนธ์ เป็นหัวหอกที่คัดค้านโครงการรับจำนำข้าวอย่างเต็มที่
มาถึงคณาจารย์ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า การเดินเรื่องคัดค้านนี้มาจาก 2 อาจารย์สำคัญคือ ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และ ดร.ศาสตรา สุดสวาสดิ์ รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ซึ่งทั้ง 2 ท่านเป็นนักวิชาการที่มีความรู้ความสามารถด้านการบริหารการเงินการคลัง และที่ผ่านมาไม่เคยออกมาคัดค้านโครงการใดของรัฐมาก่อน
ดร.อดิศร์เปิดเผยว่า จุดยืนของคณาจารย์ที่คัดค้านโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลนี้ จะยังคัดค้านต่อไป และขณะนี้ได้ส่งหลักฐานให้ศาลรัฐธรรมนูญครบถ้วนหมดแล้ว อยู่ที่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไร
ยืนยันว่า คณาจารย์ทั้ง 146 คนเห็นว่าการรับจำนำข้าวนั้น ไม่ควรเป็นไปในรูปแบบการยกระดับราคาข้าวเพียงอย่างเดียว เพราะการเอาแต่เงินให้นั้น เป็นการทำลายตลาดราคาข้าว และไม่เห็นด้วยกับฝ่ายการเมืองที่ต้องการการหาเสียงเพียงอย่างเดียว ซึ่งเห็นว่ารัฐบาลควรจะสนับสนุนเรื่องการพัฒนาผลผลิตข้าวต่อไร, การพัฒนาคุณภาพข้าว และการพัฒนาเกษตรอินทรีย์จะเหมาะสมกับสังคมไทย และไม่ทำลายกลไกตลาด
ทั้งนี้ คณาจารย์จากนิด้า ได้ประสานความร่วมมือกับทั้ง ดร.นิพนธ์ พัวพงศธร ประธานสถาบันทีดีอาร์ไอ และ รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโสจากสถาบันคลังสมองของชาติ ที่ศึกษานโยบายสาธารณะเรื่องข้าวโดยเฉพาะ เพื่อเคลื่อนไหวต่อต้านเรื่องดังกล่าวให้ถึงที่สุดด้วย
ด้าน ดร.ศาสตรา สุดสวาสดิ์ รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า ความเสียหายในระยะสั้นนั้นจะไม่เห็นผลชัดก็จริง แต่ในระยะยาวประเทศไทยจะมีผลเสียหายรุนแรงมาก โดยเฉพาะระบบตลาดค้าข้าวจะสูญเสียไป โดยที่การรับจำนำข้าวในรอบแรกก็นับว่ามีข้าวในระบบเข้าไปอยู่ในมือรัฐบาล แล้ว 50-60% ซึ่งแม้ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะพยายามพูดว่าเป็นเพียงข้าวส่วน เดียว แต่ข้อเท็จจริงคือการที่มีข้าวในระบบไปอยู่ในโครงการรับจำนำข้าวมากกว่า 50%ก็ถือว่าทำให้ตลาดไม่เอื้อต่อการแข่งขันแล้ว
เชื่อว่านักวิชาการไม่ว่าฝ่ายไหน หรือสถาบันใด ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการให้ยุติการรับจำนำข้าว เพราะตามหลักเศรษฐศาสตร์แล้วจะสร้างความเสียหายให้กับสังคมไทยอย่างมาก และเชื่อว่ายังมีนักวิชาการอีกหลายสถาบันที่ขณะนี้ยังไม่แสดงตัวออกมาร่วม คัดค้านโครงการนี้อีกจำนวนมาก
โดยเฉพาะหลังจาก ดร.โกร่ง ออกมายืนยันว่าไม่เห็นด้วย ก็ยิ่งต้องคิดว่าถึงเวลาที่รัฐบาลต้องพิจารณาหยุดโครงการรับจำนำข้าวได้แล้ว หรือยัง!
รักษ์ไม้,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,มูลไส้เดือนดิน,การเลี้ยงไส้เดือน,ปุ๋ยอินทรีย์,ปุ๋ยชีวภาพ