จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ณัฐพล หวังทรัพย์
โครงการรับจำนำข้าวเป็นหนึ่งในโครงการประชานิยม ที่รัฐบาลหมายมั่นปั้นมือ
สร้างรายได้สูงขึ้นให้แก่ชาวนา ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งในเรื่องของความโปร่งใสในการระบายข้าวสารในสต็อก ปัญหาเงินทุนที่จะนำมาใช้ดำเนินโครงการรอบใหม่ หลังจากรัฐบาลใช้จ่ายจำนวนมหาศาลกว่า 2.6 แสนล้านบาท แต่ยังไม่สามารถระบายข้าวที่มีอยู่ในสต็อกออกมาได้ เพราะราคาข้าวในตลาดโลกต่ำกว่าต้นทุนรับจำนำ
กระทรวงเกษตรสหรัฐ ประเมินว่า ไทยจะเสียแชมป์ส่งออกข้าวให้แก่อินเดียและเวียดนาม โดยคาดว่าการส่งออกข้าวของอินเดียในปีนี้อยู่ที่ 8 ล้านตัน ตามมาด้วยเวียดนาม 7 ล้านตัน และไทยขยับลงมาเป็นอันดับ 3 อยู่ที่ 6.5 ล้านตัน
ที่สำคัญคือการระบายข้าวสารในโครงการรับจำนำที่มีอยู่กว่า 10 ล้านตัน อาจทำให้รัฐบาลขาดทุนไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท
แม้ผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะเป็น "กิตติรัตน์ ณ ระนอง" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง "บุญทรง เตริยาภิรมย์ " รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ "ยรรยง พวงราช" ปลัดกระทรวงพาณิชย์ รวมไปถึง "มนัส สร้อยพลอย" อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ต่างออกมายืนยันว่าไทยจะไม่เสียแชมป์ส่งออกข้าว และจะไม่ขาดทุนนับแสนล้านบาทอย่างที่ประเมินกันอย่างแน่นอน
“อย่ามาบอกว่า ไทยเสียแชมป์ ต้องดูส่งออกทั้ง 12 เดือน ช่วงเดือน 1-6 เรายังแพ้ เดือน 7 เริ่มตีตื้น และอีก 5 เดือนที่เหลือ คาดว่าจะขายข้าวทั้งในส่วนของเอกชนและจีทูจีได้ไม่ต่ำกว่า 5 ล้านตัน" คำยืนยันจากปากปลัดพาณิชย์
อันที่จริง ภาระที่เกิดจากโครงการจำนำ โดยเฉพาะการกำหนดราคาจำนำสูงกว่าราคาตลาด เป็นเหตุให้ข้าวทั้งหมดไปอยู่กับรัฐบาล ทำให้แบกสต็อกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ นอกจากภาระงบประมาณสูงแล้ว ยังเกิดกรณีโกดังสำหรับเก็บสต็อกข้าวไม่เพียงพอ
ขณะที่ในเดือนตุลาคมนี้ จะเริ่มโครงการรับจำนำข้าวรอบใหม่ หากไม่เร่งระบายข้าวที่ค้างในสต็อกออกมา ก็จะไม่มีโกดังเก็บข้าวที่จะเข้าร่วมโครงการรอบใหม่ อีกทั้งปัญหาเงินทุนที่จะนำมาใช้ในโครงการรับจำนำข้าวรอบใหม่ที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่าจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายให้แก่ชาวนา เพราะว่าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) หน่วยงานที่จ่ายเงินล่วงหน้าให้แก่เกษตรกร กำลังประสบปัญหาขาดสภาพอย่างหนัก จนต้องออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งระบายข้าวที่เก็บไว้ในสต็อกออกไปโดยเร็ว เพื่อนำเงินมาคืนให้แก่ ธ.ก.ส. เนื่องจากมีปริมาณข้าวที่รับจำนำไว้ถึง 17 ล้านตัน วงเงินกว่า 2.6 แสนล้านบาท
แน่นอนว่าปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ จะเป็นตัวกดดันให้รัฐบาลเร่งระบายข้าวในสต็อกออกมา ซึ่ง "ปลัดยรรยง" บอกว่าตลาดที่พร้อมซื้อข้าวไทยแน่นอน ตอนนี้ ประกอบด้วย อินโดนีเซีย 1.5 ล้านตัน อิรัก 6 แสนตัน โกตดิวัวร์ 2.4 แสนตัน แอฟริกาใต้รวมๆ กัน 2-3 ล้านตัน ตลาดอื่นๆ อีก 1.5 ล้านตัน ไม่รวมตลาดข้าวคุณภาพสูงอย่าง สหรัฐ จีน ยุโรป ได้ตามเป้าหมาย
"ปลัดยรรยง" ยังบอกด้วยว่า ปัญหาโครงการรับจำนำที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในขณะนี้ เพราะว่าพ่อค้าข้าวเสียประโยชน์ ไม่พอใจที่รัฐบาลเดินสายเจรจาขายข้าวแบบ "รัฐต่อรัฐ" หรือที่เรียกว่า "จีทูจี" แทนจะขายราคาถูกให้แก่เอกชน โดยกระทรวงพาณิชย์มั่นใจการเดินสายเจรจาขายข้าว "จีทูจี" จะทำให้เราขายข้าวในปีนี้ได้ไม่ต่ำกว่า 2-3 ล้านตัน
เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา รมว.พาณิชย์ บอกว่า ประเทศโกตดิวัวร์ตกลงซื้อข้าวจากไทยในปริมาณ 2.4 แสนตัน ประกอบด้วยข้าว 4 ชนิด คือ ข้าวขาว 5% และ ข้าวหอมมะลิไทย 100% ชั้น 2 ซึ่งเป็นข้าวปีการผลิตเก่า และปลายข้าวหอมมะลิไทยเอวันเลิศ และปลายข้าวหอมมะลิไทยเอวันเลิศพิเศษ ซึ่งเป็นข้าวปีการผลิตใหม่ คิดเป็นมูลค่า 145 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 4,350 ล้านบาท กำหนดส่งมอบข้าวภายใน 6 เดือน โดยราคาที่ได้ขายให้โกตดิวัวร์เป็นราคาที่ถือว่าใกล้เคียงกับราคาตลาด
สำหรับประเทศโกตดิวัวร์ จากข้อมูลของ กองแอฟริกา กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา กระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า ปัจจุบันไทยได้ให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงดาการ์ มีเขตอาณาครอบคลุม โกตดิวัวร์ ส่วนโกตดิวัวร์ได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตโกตดิวัวร์ประจำประเทศจีน มีเขตอาณาครอบคลุมไทย เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐโกตดิวัวร์ประจำประเทศไทย ถิ่นพำนัก ณ กรุงปักกิ่ง คนปัจจุบัน คือ นาย Alain Nicaise Papatchi Coffie และได้แต่งตั้งกงสุลกิตติมศักดิ์โกตดิวัวร์ประจำประเทศไทย คือ "นายวัลลภ มานะธัญญา"
เป็น "วัลลภ มานะธัญญา" คนเดียวกับประธานกรรมการ กลุ่มบริษัทบางซื่อโรงสีไฟเจียเม้ง จำกัด ผู้ผลิต และจัดจำหน่ายข้าวตรา “หงษ์ทอง” เบอร์หนึ่ง ของผู้ส่งออกข้าวหอมมะลิ!
รักษ์ไม้,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,มูลไส้เดือนดิน,การเลี้ยงไส้เดือน,ปุ๋ยอินทรีย์,ปุ๋ยชีวภาพ