สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทีมกรุ๊ปวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ ชี้พร่องน้ำต่ำเกินไป ปี 56 มีโอกาสเกิดภัยแล้งสูง

จากประชาชาติธุรกิจ

ฤดูฝนที่มาถึงประเทศไทยในขณะนี้ ทำให้ทุกภาคส่วนติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ล่าสุด พายุโซนร้อนวิเซนเต (Vicente) ได้ขึ้นฝั่งที่ประเทศเวียดนาม ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักเป็นบริเวณกว้างในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นั่นหมายความว่าพื้นที่เหนือเขื่อนและใต้เขื่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยากำลังได้รับน้ำฝนเข้ามาเติม กลายเป็นคำถามที่ว่า แผนบริหารจัดการน้ำของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จะสามารถป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของประเทศได้หรือไม่



นายชวลิต จันทรรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีมกรุ๊ป ออฟ คัมปานีส์ จำกัด ที่ปรึกษาทางด้านการจัดการน้ำของประเทศ ได้วิเคราะห์สถานการณ์น้ำในปีนี้ จะขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ 3 ปัจจัย

ปัจจัยที่ 1 ค่าเฉลี่ยฝนในปีนี้ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ เนื่องจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดผ่านไม่รุนแรงนัก ส่งผลให้น้ำท่าทั่วไปจะอยู่ในเกณฑ์ปกติ เชื่อว่าสามารถบริหารจัดการได้ ยกเว้นอาจจะมีท่วมขังบ้างในพื้นที่ลุ่มต่ำ

ปัจจัยที่ 2 ลมมรสุมที่จะพัดผ่านเข้ามายังประเทศไทย จะต้องไม่เกิดขึ้นติด ๆ กัน จากที่ผ่านมามีพายุที่เกิดจากร่องความกดอากาศต่ำส่งอิทธิพลโดยอ้อมถึงประเทศไทยแล้ว 4 ลูก ได้แก่ พายุโซนร้อนปาร์ข่า (Parkha), พายุโซนร้อนตาลิม (Talim), พายุไต้ฝุ่นกูโชล (Guchol) และพายุดอกซูรี (Doksuri) โดยพายุเหล่านี้ไม่ได้เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยโดยตรง ทำให้การบริหารน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของประเทศยังสามารถบริหารจัดการได้

ช่วงที่ฝนจะตกหนัก เนื่องจากร่องความกดอากาศต่ำเลื่อนเข้ามายังประเทศไทย จะเริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคม-กันยายนไปจนกระทั่งถึงเดือนตุลาคมนั้น ้หากมี "พายุ" เฉลี่ยเข้ามาเดือนละ 1 ลูก อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ตอนบน เขื่อนภูมิพล-เขื่อนสิริกิติ์ จากการพร่องน้ำต่ำกว่าร้อยละ 46 ของความจุอ่าง จะมีความสามารถในการรับมือกับพายุที่เข้ามาได้ แต่หากพายุเข้าติดต่อกันเดือนละ 3 ลูก ความสามารถในการกักเก็บน้ำและระบายน้ำผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาก็จะลดลง อาจจะก่อให้เกิดภาวะน้ำท่วมหวนกลับคืนมาได้

ปัจจัยที่ 3 อิทธิพลจากลมมรสุมในมหาสมุทรอินเดียในปีนี้ เชื่อว่าจะไม่มีความรุนแรงมาก แต่ยังมีกำลังอยู่ ภาวะเช่นนี้จะก่อให้เกิดฝนตกในภาคตะวันตกของประเทศ ตั้งแต่จังหวัดแม่ฮ่องสอนจนถึงกาญจนบุรี

ปัจจัยที่ 4 การเกิดปรากฏการณ์เอลนิโญ (El Nino) หรือการเปลี่ยนแปลงในอุณหภูมิผิวน้ำทะเลของมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก โดยอุ่นขึ้นผิดปกติ ปรากฏการณ์นี้จะทำให้เกิดภาวะแห้งแล้งในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งล่าสุดได้รับการยืนยันแล้วว่า ในปีนี้จะเกิดภาวะ El Nino แน่นอน นั่นหมายถึงปริมาณฝนก็จะลดน้อยลงไปด้วย ดังนั้นโอกาสที่จะมีลมพายุอาจมีไม่มากและไม่รุนแรงนัก

กล่าวโดยสรุปในปีนี้ อาจจะเกิดน้ำท่วมบ้าง แต่ไม่รุนแรงเท่าปีที่แล้ว เพราะปีนี้ไม่มีพายุอย่าง "นกเต็น" เข้ามาทำให้น้ำเต็มทุ่ง

เรื่องที่น่าเป็นห่วงและมีความน่าจะเป็นคือการพร่องน้ำอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศลงเหลือร้อยละ46 ของความจุอ่างตั้งแต่ต้นปี 2555 เพื่อเตรียมรับมือกับปริมาณฝนที่จะตกในปีนี้นั้น

นายชวลิต อธิบายว่าการพร่องน้ำร้อยละ 46 เป็นระดับน้ำในอ่างปกติ ดูเหมือนว่าพร่องน้ำไปไม่มากนัก เหลือน้ำอยู่เกินกว่าครึ่งอ่าง แต่หากคิดจาก "ความจุใช้การจริง" จะเหลือน้ำเพียงร้อยละ 18 เท่านั้น ถือเป็นการพร่องน้ำที่ต่ำเกินไปและมีความเสี่ยง

หากพายุเข้ามาใต้อ่างหลัก คือเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งเป็นช่วงที่ร่องความกดอากาศต่ำจะพัดผ่านภาคกลางในช่วงกันยายน-ตุลาคม นั่นหมายความว่า ฝนก็จะไม่ตกเหนืออ่าง น้ำที่เหลือในอ่าง 18% ก็จะไม่เต็ม ส่งผลต่อการบริหารจัดการน้ำได้

"ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม เราก็ทราบเรื่องภาวะการเกิด El Nino หรือฝนน้อยและน้ำแล้งแล้ว มีการหารือกันในหมู่ผู้เกี่ยวข้องว่า น่าจะมีการทบทวนการพร่องน้ำในอ่างเก็บน้ำสำคัญของประเทศ ด้วยการปรับขึ้นให้สูงร้อยละ 50-60 แต่มีการอ้างเหตุผลเรื่องภาวะการต้องการใช้น้ำ จนมีการปล่อยน้ำจากอ่างเก็บน้ำลงมาเรื่อย ๆ ทำให้น้ำในเขื่อนลดลงมาในระดับใกล้อันตรายอย่างที่เห็น หรือแตะขีดต่ำสุดของความจุอ่างที่ใช้การได้จริง" นายชวลิตกล่าว

ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ในการจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ก็คือต้องการให้น้ำเต็มอ่างในเดือนตุลาคมของทุกปี แต่เมื่อพร่องน้ำต่ำเกินไป ก็ค่อนข้างอันตราย หากพายุไม่เข้า ก็ไม่มีน้ำเติมเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ทำให้น้ำไม่เพียงพอ และจะกลายเป็นภาวะภัยแล้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยาในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2556


รักษ์ไม้,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,มูลไส้เดือนดิน,การเลี้ยงไส้เดือน,ปุ๋ยอินทรีย์,ปุ๋ยชีวภาพ

Tags : ทีมกรุ๊ป วิเคราะห์สถานการณ์น้ำ ชี้พร่องน้ำต่ำเกินไป โอกาสเกิดภัยแล้งสูง

view