สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

บทเรียนราคาแพง จากจำนำข้าวถึง ปั่น ราคายาง

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...จตุพล สันตะกิจ

หากโครงการประชานิยมของรัฐบาล โดยเฉพาะการแทรกแซงราคาข้าว ยาง และมันสำปะหลังราคาสูงๆ เพื่อมุ่งหวังเพียงกุมฐานเสียงคนฐานราก ปูทางนำ “คนอยู่ไกล” ให้กลับบ้าน ภายใต้หน้ากากนโยบายสร้างกำลังซื้อในประเทศแล้ว บอกได้คำเดียวว่า รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังนำพาประเทศนี้ไปในทิศทางที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดหายนะครั้งใหญ่

เสี่ยงต่อฐานะการคลังประเทศไปสู่วิกฤต

เสี่ยงที่ประเทศจะไม่มีภูมิคุ้มกันสู้กับวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เกิดถี่ขึ้นๆ ทุกวัน

และเสี่ยงสร้างหนี้มหาศาลให้ลูกหลานคนไทยทั้งชาติต้องชดใช้ในอนาคต

วันนี้โครงการรับจำนำข้าวเปลือกทุกเมล็ดที่เริ่มมาตั้งแต่ข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/2555 และข้าวเปลือกนาปรัง ปีการผลิต 2555 ส่งผลให้รัฐบาลต้องกู้หนี้ยืมสินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สูงเกือบ 3 แสนล้านบาทแล้ว

ทั้งต้องแบกสต๊อกข้าวในมือสูงถึง 17 ล้านตันข้าวเปลือก หรือประมาณ 10 ล้านตันข้าวสาร ซึ่งเท่ากับปริมาณข้าวสารที่ไทยส่งออกทั้งปี

และมีการประเมินว่า หากระบายข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลจะขาดทุนทันที 1.3-1.4 แสนล้านบาท

แต่กระนั้น รัฐบาลก็ยอมกัดฟันไม่ยอมระบายข้าวออก โดยหวังว่า เมื่อประเทศผู้ผลิตรายอื่นๆ ส่งออกข้าวหมดเมื่อไหร่ จะเป็นโอกาสของไทยที่จะขายข้าวในราคาแพงๆ บ้าง

“อินเดีย พม่า กัมพูชา ขายข้าวไปเท่าไหร่ ผมคำนวณทุกวัน ผมรู้อุปทานและความต้องการว่ามีเท่าไหร่ เมื่อเขาอยากขายถูกก็ขายไป ส่วนของเราตั้งใจขายเดือน ก.ค. และมั่นใจว่าเมื่อขายตอนนั้นจะได้ราคา เพราะคนที่มีข้าวส่วนเกินขายไปหมดแล้ว เมื่อข้าวถูกๆ ได้ขายจนหมดแล้ว เดี๋ยวถึงตาเราขายบ้าง อย่าบ่นก็แล้วกัน” เป็นคำพูดของ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ที่ระบุเมื่อปลายเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา แต่วันนี้ยังไม่มีระบายข้าวในสต๊อกของรัฐบาล

นอกจากการนำข้าวสารในสต๊อก 4-5 แสนตัน มาบรรจุถุงขายใน “ร้านถูกใจ”

แต่นั่นก็ต้องบอกว่า เป็นฝันลมๆ แล้งๆ

เพราะข้าวเป็นพืชที่ปลูกได้ทั้งปี หากน้ำท่าบริบูรณ์ 3-4 เดือน ก็เก็บเกี่ยวได้ เมื่อราคาข้าวสูงขึ้นก็เป็นแรงจูงใจให้หลายประเทศหันมาปลูกข้าวส่งออกมาก ขึ้น เช่น ประเทศแถบละตินอเมริกา และสหรัฐ ที่แม้ไม่ใช่ประเทศที่บริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก แต่เป็น 1 ใน 5 ประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก

กระทั่งพม่าที่เคยเป็นยักษ์ใหญ่ในการผลิตและส่งออกข้าวในอดีตกำลังหวนคืนเวทีค้าข้าวอีกครั้ง หลังการถูกคว่ำบาตรมายาวนาน

แม้แต่จีนที่มีประชากรกว่า 1,400 ล้านคน แต่จีนเร่งรีบพัฒนาสายพันธุ์ข้าวลูกผสมที่ให้ผลผลิตสูงเพื่อให้พอเลี้ยงคนทั้งประเทศ

หากจำกันได้ การเกิดวิกฤตอาหารปี 2551-2552 ราคาข้าวสารพุ่งไปแตะ 2 หมื่นบาทต่อตัน แต่ผู้บริโภคที่รับราคาไม่ได้ก็จะหันไปกินข้าวคุณภาพต่ำ ราคาถูก หรือหันไปกินข้าวสาลี และขณะนี้ทุกประเทศตระหนักถึงปัญหาการขาดแคลนอาหารและเร่งปลูกข้าวกันขนาน ใหญ่

มิหนำซ้ำข้าวสารที่รัฐบาลเก็บไว้ในสต๊อกจนโกดังข้าวแทบจะแตก ยังกดถ่วงไม่ให้ราคาข้าวโลกเพิ่มขึ้น เพราะต่างรู้ดีว่า เมื่อถึงเวลารัฐบาลไทยต้องระบายข้าวออก หรือไม่ก็ปล่อยให้ข้าวเน่าคาโกดัง

ปัจจัยเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ไม่มีโอกาส หรือเป็นไปได้น้อยมากที่รัฐบาลจะระบายข้าวออกโดยไม่ “ขาดทุน”

ยิ่งรัฐบาลเดินหน้ารับจำนำข้าวนาปี ปีการผลิต 2555/2556 โดยยืนนโยบายจำนำข้าวทุกเมล็ดด้วยแล้ว

หากผลผลิตที่จะออกมาในเดือน พ.ย.เป็นต้นไปจนถึงสิ้นฤดูกาลสูงถึง 25 ล้านตันข้าวเปลือก ก็ต้องถามว่า รัฐบาลจะเอาโกดังที่ไหนมาเก็บข้าว และเงินทุนหมุนเวียนที่ใช้ในโครงการอีกอย่างน้อย 4 แสนล้านบาท จะกู้จากแหล่งใด

นั่นเป็นเหตุให้ ธ.ก.ส.ต้องออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งระบายข้าวสารในสต๊อก หาทุนมาหมุนเวียนซื้อข้าวล็อตใหม่

จึงเรียกได้ว่านโยบายจำนำข้าวเปลือก 1.5 หมื่นบาทครานี้ อยู่ในภาวะ “กลืนไม่เข้าคายไม่ออก”

หากจะเดินหน้าต่อก็มีหวังเจอ “ทางตัน” ยิ่งทุ่มเงินลงไปเท่าไหร่ก็เหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

ส่วนคำพูดที่ “ดูดี” ว่าโครงการจำนำข้าวทำให้ชาวนามีขายข้าวได้ราคาดีขึ้นจาก 7,000-8,000 บาทต่อตัน เป็น 1.2-1.3 หมื่นบาทต่อตัน แต่เอาเข้าจริงแล้วราคาข้าวที่ขายได้เมื่อหักลบกับต้นทุนค่าปุ๋ย ค่ายา และค่าแรง บวกกับค่าครองชีพที่ถีบตัวสูงขึ้น ชาวนาตัวจริงจึงเหลือเงินในกระเป๋าไม่กี่บาท

ซ้ำถูกกระตุ้นให้จับจ่ายใช้สอยอย่างมือเติบ หนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นเป็นดินพอกหางหมู แต่รัฐบาลก็มีนโยบายพักหนี้ดี ภาระหนี้ที่จ่อคอหอยลากยาวออกไป 3 ปี แต่เมื่อท้ายที่สุดแล้วชาวนาก็ต้องยอมรับความจริงกับภาระหนี้ก้อนโตที่รอคอย ความหวังให้คนไกลบ้านมาช่วย “ปลดหนี้” กลายเป็นมหาประชานิยมรอบใหม่

นี่ถือเป็นบทเรียนราคาแพงบทที่ 1

ไม่เพียงเท่านั้น โครงการรับจำนำมันสำปะหลังปี 2554/2555 ที่ตั้งเป้ารับจำนำมันสำปะหลัง 10 ล้านตัน แต่เมื่อสิ้นสุดโครงการรับจำนำมันสำปะหลังจริงได้ทั้งสิ้น 9.43 ล้านตัน โดยใช้เงินกู้จาก ธ.ก.ส.เป็นทุนหมุนเวียนในการรับจำนำ 2.68 หมื่นล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายแปรสภาพมันสำปะหลังที่จ่ายให้ลานมันสำปะหลังและโรงแป้ง 3,556 ล้านบาท

แต่ก็พบความผิดปกติอีก คือ โครงการนี้เริ่มต้นเดือน ก.พ.-มิ.ย. 2555 นั้นพบว่าปริมาณรับจำนำมันสำปะหลังเดือน พ.ค. พุ่งขึ้นเป็น 3 ล้านตัน จากผลผลิตเดือน พ.ค. ที่มีปริมาณ 7.3 แสนตัน และขณะที่เมื่อเริ่มต้นโครงการเดือน ก.พ. มีผลผลิตมันสำปะหลังกว่า 4.81 ล้านตัน แต่เข้าโครงการ 4.9 แสนตัน

จึงมีความเป็นไปได้ว่าปริมาณรับจำนำมันสำปะหลังที่ปูดขึ้นเดือน พ.ค. เป็นมันสำปะหลังที่โรงแป้งและลานมันสำปะหลังนำที่รับซื้อก่อนหน้านี้มา “สวมสิทธิ” ในโครงการ หรือไม่เช่นนั้นก็เป็น “สต๊อกลม” ที่ปั้นตัวเลขขึ้นมา

แม้ข้อเท็จจริงตรงนี้อยู่ในขั้นการตรวจสอบ แต่ก็ต้องตั้งคำถามว่า โครงการรับจำนำมันสำปะหลังผู้ปลูกมันสำปะหลังตัวจริงได้ผลประโยชน์กันทั่ว หน้าหรือไม่

นี่ยังไม่นับมติ ครม.ที่แปลกประหลาดที่สุด คือ ให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) กู้เงินจาก ธ.ก.ส. 1 หมื่นล้านบาท เข้าไปรับซื้อมันเส้นและแป้งมันโดยตรงจากลานมันสำปะหลังและโรงแป้ง โดยอ้างว่าเพื่อให้ลานมันสำปะหลังและโรงแป้งที่พื้นที่เหลือที่รับจำนำมัน สำปะหลังในโครงการฯ

เรียกว่า อุ้มพ่อค้ากันชัดๆ

และวันนี้ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีคนใต้ ที่หันมาจับเรื่องยางพาราหวังสร้างที่ยืนในกระทรวงเกษตรฯ หลัง “เจ้าสัวเติ้ง” กินรวบเกือบทั้งกระทรวง ได้อาศัยมติ ครม. เมื่อวันที่ 17 ก.ค. สั่งการให้องค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) รับซื้อยางพาราในราคานำตลาด

โดยรับซื้อยางแผ่นดิบที่ 100 บาทต่อกิโลกรัม และยางแผ่นดิบรมควันชั้น 3 ที่ 104 บาทต่อกิโลกรัม โดยใช้เงินจากโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ยางพารา 1.5 หมื่นล้านบาท ที่กู้ยืมจาก ธ.ก.ส.

แต่เงื่อนไขที่ผูกมากับโครงการรับซื้อยางนำตลาด คือ หาก อ.ส.ย.เข้าไปรับซื้อยางในราคานำตลาดและเกิดการขาดทุน รัฐบาลต้องแบกรับภาระขาดทุนเช่นเดียวกับโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรอื่นๆ

นั่นเท่ากับเป็นการยอมรับกลายๆ ว่า การซื้อยางนำตลาดที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค.นี้ มีโอกาสขาดทุนซ้ำรอยโครงการจำนำข้าว ทั้งมีการตอกย้ำจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ว่าการดำเนินการแทรกแซงผลผลิตการเกษตรที่ผ่านมามักประสบปัญหาขาดทุน และนำงบของรัฐมาชดเชยการขาดทุน

แต่หมากที่รัฐบาลและณัฐวุฒิจำเป็นต้องเดิน ก่อนที่ม็อบชาวสวนยางจะยกระดับเป็น “ม็อบการเมือง”

ทั้งต้องยอมรับว่า ชาวสวนยางวันนี้ไม่ได้มีเฉพาะคนภาคใต้เท่านั้น แต่กระจายไปภาคเหนือ อีสานและตะวันออก ตามนโยบายขยายพื้นที่ปลูกยางนับล้านไร่ คนเหล่านี้เป็นฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย

ขณะที่ณัฐวุฒิยอมรับว่า ราคารับซื้อยางที่ไทยกำหนดรับซื้อจากชาวสวนยาง ยังไม่ได้หารือในคณะกรรมการบริษัทร่วมทุนยาง 3 ชาติ นั่นเท่ากับว่าไทยกำลังดำเนินนโยบายกำหนดรับซื้อยางราคาสูงโดย “ลำพัง” แม้ไทยจะเป็นผู้ผลิตยาง 1 ใน 3 ของโลก แต่หากอีก 2 ประเทศยังไม่เดินตามนโยบายของไทยในการซื้อยางเข้ามาเก็บในสต๊อก

การ “ฮั้ว” เพื่อปั่นราคายางจึงยังไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้

ขณะที่ปัจจุบันจะพบว่าผลผลิตยางและความต้องการใช้ยางอยู่ในระดับที่ “สูสี” กันมาก ต่างจากปีที่แล้วที่ความต้องการสูงกว่าการผลิต 2 แสนตัน แต่จากปัจจัยเศรษฐกิจจีนไตรมาส 2 ที่ขยายตัว 7.6% เติบโตต่ำสุดในรอบ 3 ปี เป็นสัญญาณที่ชี้ชัดถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนอันเนื่องจากวิกฤตยูโรโซน

นี่เป็นสิ่งที่น่ากังวล เพราะจีนเป็นผู้นำเข้ายางรายใหญ่ที่สุดของไทย

อีกทั้งข้อมูลการส่งออกสินค้าไปยุโรปจะพบว่า ผลิตภัณฑ์ยางพาราเป็นสินค้าที่ไทยส่งออกไปยุโรปโดยตรงมากเป็นอันดับ 4 เมื่อเศรษฐกิจยุโรปป่วยไข้ ย่อมส่งผลกระทบความต้องการใช้ยางลดลง เช่นเดียวกับเศรษฐกิจสหรัฐที่ยังลูกผีลูกคน กระทั่งอาจต้องงัดมาตรการอัดฉีดเงินเข้าระบบ หรือคิวอี 3 มาใช้

เหล่านี้เป็นสัญญาณที่ไม่ดีต่อราคายางในตลาดโลกเลย

การที่รัฐบาลทุ่มเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท เพื่อซื้อยางในราคาเป้าหมาย 100 บาทต่อกิโลกรัม มีโอกาสที่รัฐบาลต้องแบกรับภาระขาดทุนจึงมีสูง และซ้ำรอยกับการโครงการจำนำข้าวที่เป็นปัญหาหนักอกของรัฐบาลอยู่ตอนนี้


รักษ์ไม้,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,มูลไส้เดือนดิน,การเลี้ยงไส้เดือน,ปุ๋ยอินทรีย์,ปุ๋ยชีวภาพ

Tags : บทเรียนราคาแพง จากจำนำข้าว ปั่น ราคายาง

view