สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปล่อยให้กินกันตาม น้ำ รัฐบสลปูอยู่ไม่ยาว

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...จตุพล สันตะกิจ

ความเป็นห่วงเป็นใยเกี่ยวกับการทุจริตโครงการลงทุนระบบน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ดังถี่ขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะเสียงจากภาคเอกชนและประชาสังคมที่สะท้อนข้อมูลความไม่โปร่งใส โครงการลงทุนน้ำหลายต่อหลายโครงการ

แต่ก็มีเสียงยันจากฝั่งรัฐบาลว่า จะไม่ปล่อยให้มีการทุจริตคอร์รัปชันในโครงการลงทุนระบบน้ำแน่นอน

เช่นที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระบุว่า โครงการน้ำตรวจสอบได้และมีความโปร่งใส หรือกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ออกโรงนำหน้าหนุน ปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เหตุผลที่การลงทุนน้ำต้องใช้การจัดซื้อจัดจ้าง “วิธีพิเศษ”

“ที่ต้องใช้การจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ รัฐบาลมองว่ามีความจำเป็น เพราะโครงการลงทุนเป็นเรื่องเร่งด่วน หากเปิดประมูลแบบปกติจะมีปัญหาล่าช้า และทำให้ประสิทธิภาพลดลง” กิตติรัตน์ กล่าว

แต่กิตติรัตน์ ไม่การันตีว่า จะไม่มีการทุจริตเกิดขึ้น แต่ถ้าจะโกงกัน 40-50% อย่างนี้เป็นไปได้น้อยมาก

นั่นก็เท่ากับเป็นการยอมรับกลายๆ ว่าการลงทุนระบบน้ำมีโอกาสทุจริตได้เช่นเดียวกับการลงทุนโครงการอื่นๆ ที่มีการเรียกเด็ด “หัวคิว” ตามอัธยาศัยของผู้มีอำนาจอนุมัติโครงการ

กระนั้นหน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดสรรงบแผ่นดินอย่างสำนักงบประมาณ ต้องออกมาร้องเตือนคณะรัฐมนตรี (ครม.)ว่า การใช้วิธีพิเศษในการจัดซื้อจัดจ้างโครงการน้ำเพื่อความรวดเร็วนั้น กบอ.น่าจะนำเสนอหลักเกณฑ์และวิธีการที่เกี่ยวข้องกับพัสดุ พร้อมทั้งระบบควบคุมตรวจสอบและติดตามโครงการ เสนอให้ ครม.อนุมัติเป็น “การเฉพาะ”

เป็นความห่วงใยที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องเงี่ยหูฟัง

ปัจจุบันมีการใช้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ ลงทุนน้ำ 3.5 แสนล้านบาทไปแล้ว 3-4 หมื่นล้านบาท ส่วนเงินที่เหลืออีก 3 แสนล้านบาทอยู่ระหว่างขั้นตอนคัดเลือกผู้ดำเนินการ และคาดว่าการลงเสาเข็มเมกะโปรเจกต์น้ำจะเริ่มต้นปีหน้า

ไม่ทันไรกลิ่นการทุจริตก็โชยมาเสียแล้วเมื่อศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและ ธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยว่า ได้รับการร้องเรียนผ่านภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่นภาคเอกชน ถึงการเรียกรับสินบนประมูลงานป้องกันน้ำท่วมในระดับท้องถิ่น 5-6 โครงการ ที่ระดับ 40-50% ของมูลค่าโครงการ

ส่งผลให้ค่าเฉลี่ยการเรียกรับสินบนเพิ่มจากอัตรา 25-30% เป็น 30-35% ในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมา

แต่ถูกสวนกลับจากกิตติรัตน์ทันทีว่า รัฐบาลยังไม่ได้รับรายงานว่ามีการทุจริตการลงทุนระบบน้ำ หากส่งเรื่องมาและตรวจพบว่าเป็นจริงจะลงโทษ ถูกจับติดคุกแน่นอน แม้จะถูกมองว่าเป็นการพูดแบบเอาสีข้างเข้าถู เพราะกิตติรัตน์ไม่มีอำนาจสั่งจับใครติดคุก ทั้งไม่มีพฤติกรรมที่แสดงออกชัดเจนว่าเป็น “มือปราบทุจริต”

ทว่าการเปิดประเด็นครั้งนี้ข้อคิดที่น่าสนใจ คือ เอกชนเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยข้อมูลราคากลางในการจัดซื้อจัดจ้าง และเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างวิธีพิเศษ

สอดคล้องกับข้อเสนอคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ให้ ครม.สั่งการให้ส่วนราชการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัด ซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะ “ราคากลาง” และ “การคำนวณราคากลาง” ไว้ในระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้ ตามมาตรา103/7 วรรคหนึ่งของกฎหมาย ป.ป.ช.

นอกจากนี้ มาตรา103/7 วรรคสองมีสาระที่น่าสนใจ คือ “...กรณีที่มีการทำสัญญาระหว่างหน่วยงานของรัฐกับบุคคลหรือนิติบุคคลที่เป็น คู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ ให้บุคคลหรือนิติบุคคลที่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐนั้น

มีหน้าที่แสดงบัญชีรายการรับจ่ายของโครงการที่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงาน ของรัฐต่อกรมสรรพากร นอกเหนือจากบัญชีงบดุลปกติที่ยื่นประจำปี เพื่อให้มีการตรวจสอบเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินและการคำนวณภาษีเงินได้ใน โครงการที่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ...”

หรือเข้าใจกันง่ายๆ คือ คู่สัญญาโครงการรัฐต้องยื่นบัญชีรายรับรายจ่ายในการดำเนินโครงการให้ “สรรพากร” โดยปีแรก เม.ย. 2555-31 มี.ค. 2556 ให้บังคับใช้กับสัญญามูลค่าตั้งแต่ 2 ล้านบาท และ 1 เม.ย. 2556 ให้บังคับใช้กับสัญญามูลค่าตั้งแต่ 5 แสนบาท

เป็นความพยายามของ ป.ป.ช.ในการ “อุดรูโหว่” การทุจริต โดยอาศัยการตรวจสอบ “บัญชี” แม้ว่าปัจจุบันการตบแต่งบัญชีมีเทคนิคมากมาย แต่ไม่อาจกลบร่องรอยได้ 100%

แต่ข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช.เหล่านี้ ถูก ครม. “ตีกลับ” ไม่เป็นท่า

เพราะ ครม.อ้างได้ความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติตามมาตรา 103/7 และ ครม.ย่อมมีดุลยพินิจที่จะรับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปดำเนินการทั้งหมดหรือบางส่วนได้ตามที่เห็นสมควร

แม้แต่ก่อนหน้านี้ ปลอดประสพเองให้ความเห็นว่า หากเปิดเผยราคากลางอย่างนี้แล้วรัฐจะเปิดให้มีการ “ประมูล” กันไปทำไม เพราะเมื่อไม่มีการประมูลก็ไม่มีการแข่งขันราคากัน และทุกวันนี้การจัดซื้อจัดจ้างก็ทำตามระเบียบพัสดุปี 2535 และระเบียบอีออกชัน ปี 2549 ควบคุมอยู่แล้ว

หากยังจำกันได้ ป.ป.ช.เสนอเรื่องการเปิดเผยราคากลางและวิธีคำนวณราคากลางให้ ครม.พิจารณาดำเนินการแล้ว 2 ครั้ง 2 ครา แต่ก็เมินเฉยทุกครั้ง

จึงไม่แปลกใจที่ว่าการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ มีข้อสรุปว่า การที่ ครม.ไม่รับข้อเสนอของ ป.ป.ช.ที่ให้เปิดเผยราคากลางโครงการประมูลต่างๆ หากเกิดความเสียหายขึ้นแล้วมี “ผู้ร้อง” มายัง ป.ป.ช.ก็จะมีการไต่สวนเอาผิดกับ ครม.โทษฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

เมื่อพิเคราะห์จากท่าทีของที่ประชุมใหญ่ ป.ป.ช.แล้ว ฟันธงได้เลยว่าโครงการลงทุนน้ำจะต้องถูกเกาะติดทุกฝีก้าว

ทั้งในมิติการตรวจสอบการทุจริต และมิติ “ถ่วงดุลอำนาจ” และสร้าง “บรรทัดฐาน” ในการตรวจสอบโครงการรัฐโดยองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญอย่าง ป.ป.ช.

หากพิจารณาแง่ปฏิบัติแล้ว การลงทุนโครงการระบบน้ำมีช่องทางทุจริตไม่ต่างจากการลงทุนอื่นๆ

“ไม่ว่าจะเป็นการจัดซื้อจัดจ้างวิธีพิเศษ หรือจะจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบพัสดุของทางราชการตามปกติ ก็มีช่องทางทุจริตเรียกรับสินบนทั้งนั้น กลวิธีแตกต่างกันเล็กน้อยเท่านั้น แต่มีการเรียกหัวคิวไม่ต่างกัน” ธนิตพล ไชยนันทน์ ประธานคณะกรรมาธิการติดตามการบริหารงบประมาณ ระบุ

ธนิตพล เปรียบเทียบว่า หากเป็นการจัดซื้อจัดจ้างวิธีพิเศษ อาจเรียกได้ว่าเป็นการ “ล็อกสเปก” ผู้รับเหมาตั้งแต่เริ่มโครงการ เช่น การกำหนดแบบก่อสร้างหรือวิธีการก่อสร้างที่เอื้อเฉพาะรายใดรายหนึ่ง เหมือนกับการชี้ตัวว่าจะให้ใครได้โครงการนั้นไป ส่วนการเรียกหัวคิวจะทำก่อนหรือหลังมีโครงการก็ได้

แต่หากเป็นการจัดซื้อจัดตามระเบียบพัสดุฯ จะพบว่าแต่ละส่วนราชการมี “บัญชี” รายชื่อผู้รับเหมาประจำอยู่แล้ว และเมื่อเปิดประมูลก็จะมีแต่ผู้ที่อยู่ในบัญชีเท่านั้นที่เข้าร่วมประมูล ซึ่งตรงนี้เขาไม่ “สู้” ราคากันแรง เพราะผู้รับเหมาไปคุยกันนอกรอบว่างานนั้นงานนี้ใครได้ แบ่งงานกันไปสมประโยชน์กันทุกฝ่าย ส่วนหัวคิวก็จ่ายในอัตราที่ “ขอ”

หรือกรณีหน่วยงานราชการจะมีประมูลจัดซื้อจัดจ้างโครงการใด ก็จะมี “ตัวกลาง” วิ่งไปหาผู้รับเหมาแต่ละรายให้มาตกลงราคากันว่าจะจ่ายใต้โต๊ะเท่าไหร่ หากใครจ่ายงามๆ ก็ได้งานไป ส่วนรายอื่นก็รอโครงการหน้า มีตัวกลางเดินงานติดต่อให้ โดยผู้รับเหมาไม่ต้องวิ่งให้เหนื่อยแรง

จึงสรุปได้ว่าจะจัดซื้อวิธีพิเศษหรือวิธีปกติก็ “โกงกิน” ได้ทั้งนั้น

แต่ก็มีคำถามว่าแล้วเงินที่นำมาจ่ายเป็นค่า “หัวคิว” นั้น ได้มาจากไหน

ก็ต้องบอกว่ามาจากวิธีการกำหนดราคากลางนั่นเอง เพราะ “ราคากลาง” ที่แม้มีวิธีการคำนวณราคาตามกฎหมายของกรมบัญชีกลาง แต่ราคากลางที่ว่านั้น กลับหมายถึง “ราคาสูงสุด” ในการดำเนินการแต่ละโครงการนั้นๆ เพราะถ้ากำหนดราคากลางต่ำสุด ก็จะไม่มีผู้ร่วมประมูล

สิ่งที่พบเห็นเป็นปกติ คือ เมื่อหน่วยงานรัฐเปิดประมูลโครงการ มักจะพบว่าเอกชนเสนอราคาที่ “สูสี” กับราคากลางอย่างมาก โครงการมูลค่าหลักพันล้าน แต่มีการเสนอราคาต่ำกว่าราคากลางไม่กี่แสนบาท

อย่างนี้ต้องบอกว่ามีข้อมูล “อินไซเดอร์”

บางโครงการเอกชนที่ชนะประมูลเสนอราคาสูงกว่าราคากลาง หน่วยงานรัฐก็ออกหน้าเจรจาของต่อรองลดราคา โดยเฉพาะโครงการใหญ่บางโครงการลดราคาลงได้หลายพันล้านบาท ฟังแล้วเหมือนดูดี

แต่คนทั่วไปหารู้ไม่ว่า “ราคากลาง” ที่ปั้นขึ้นมาสูงกว่าค่าก่อสร้างจริงมาก ทั้งผู้รับเหมาก็มีกำไร แถมมีส่วนต่างเก็บไว้จ่ายหัวคิวได้อีกต่างหาก

แม้แต่การก่อสร้างจริงก็ตาม การโกงกินก็ตรวจสอบได้ยากอีก เช่น หากสร้างคันกันน้ำ สูตรการผสมปูนกับทรายก็มีส่วนทำให้ต้นทุนก่อสร้างต่างกันมาก หรือเหล็กที่ฝังในซีเมนต์หากสเปกกำหนดเป็น 2 หุน แต่เหล็กใช้จริงแค่ 1 หุน ต้นทุนก็แตกต่างกันอีก ไม่นับการขุดลอกคลอง และยกระดับถนน มีช่องทางให้ทุจริตสารพัด

ยิ่งเป็นโครงการลงทุนระบบน้ำ 3 แสนล้านบาทในมือ กบอ.ด้วยแล้ว ที่เป็นการจัดซื้อวิธีพิเศษ คงไม่ต้องบอกก็รู้ว่าจะออกมารูปไหน แต่ก็ต้องตามดูกันต่อ

การเมืองที่ว่าเป็นกระแสร้อนๆ ยามนี้ ก็หนักอกหนักใจรัฐบาลยิ่งลักษณ์พออยู่แล้ว แต่ยืนยันว่าไม่มีทางที่รัฐบาลไม่มีทางล้ม เพราะวันนี้รัฐบาลคุมเสียงในสภาได้

แต่หากปล่อยให้มีการทุจริตโครงการลงทุนน้ำ กินกันยาวๆ กินกันตามน้ำ นั่นจะนำไปสู่จุดเสื่อมศรัทธาต่อรัฐบาล เมื่อนั้นรัฐบาลอาจอยู่ไม่ยาวแน่ๆ


รักษ์ไม้,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,มูลไส้เดือนดิน,การเลี้ยงไส้เดือน,ปุ๋ยอินทรีย์,ปุ๋ยชีวภาพ

Tags : ปล่อยให้กินกันตาม น้ำ รัฐบาลปูอยู่ไม่ยาว

view