จากเทคโนโลยี่ชาวบ้าน
สุมิตรา จันทร์เงา
โลกของทุเรียน ก่อนจะเป็น King of Fruit
ในเดือนพฤษภาคมของทุกปี ที่จังหวัดจันทบุรี จะมีงานมหกรรมทุเรียนโลก
งาน นี้โด่งดังข้ามโลกกันจริงๆ เพราะมีการประกวดประชันหลายอย่าง รวมถึงการแข่งขันกินทุเรียน ซึ่งเปิดให้คนทุกชาติทุกภาษาเข้าร่วมแข่งขันได้โดยไม่มีเงื่อนไขนั้น ล่าสุด ปีนี้คนที่ได้แชมป์ไป หาใช่คนไทยไม่ แต่เป็นชาวออสซี่จากเมืองจิงโจ้ค่ะ
"มหกรรม ทุเรียนโลก" จัดกันมากี่ปีแล้วก็ไม่ทราบได้ แล้วทำไม เจ้าภาพต้องเป็นจันทบุรี ทั้งที่ทุเรียนเมืองระยองก็มีชื่อเสียงความเอร็ดอร่อยไม่แพ้ใคร...อันนี้ก็ ไม่รู้เหมือนกันนะ
คงเป็นเรื่องความสามารถเฉพาะตัวของผู้นำแต่ละ จังหวัดที่จะเสนอกิจกรรมท่องเที่ยวต่อ ททท. ให้เป็นเทศกาลถาวรประจำท้องถิ่น เพื่อสร้างความจดจำขึ้นในใจแบบไม่ลืมเลือนว่า ถ้างานเทศกาลทุเรียนประจำปีของฤดูผลไม้ทางภาคตะวันออกแล้วล่ะก็ต้องเป็นงาน ที่เมืองจันท์นะ
เหมือนกับที่เรารู้ทันทีเลยว่า ถ้าจะไปเที่ยวเผาเทียนเล่นไฟก็ต้องไปสุโขทัย เที่ยวงานฤดูหนาวที่เชียงใหม่ ดูไหลเรือไฟที่นครพนม แห่เทียนพรรษาที่อุบลราชธานี ประเพณีกินเจที่ภูเก็ต บุญเดือนสิบไหว้พระธาตุที่นครฯ อะไรประมาณนั้น
งานมหกรรมทุเรียนโลก ที่เมืองจันท์นั้น มีโต้โผใหญ่ให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลังคือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ส่วนเจ้าภาพหลักก็คือ สำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี ซึ่งนอกจากจะเชิญชวนให้คนต่างถิ่นเข้าไปซื้อหาผลไม้ พืชผลการเกษตรตามฤดูกาลที่ชาวสวนนำมาจำหน่ายกันอย่างเอิกเกริกแล้ว ก็ต้องคิดหากิจกรรมด้านความบันเทิง และของแปลกแหวกแนวมาดึงดูดความสนใจกันเป็นธรรมดา
ไม่ว่าจะเป็นการ สร้างอุโมงค์ผลไม้ ขนผลไม้รสดีสารพัดชนิดมาให้ประชาชนได้ชิมฟรี การโชว์ขนุนยักษ์พันธุ์พิเศษ น้ำหนักเกือบร้อยกิโลกรัม ทุเรียนยักษ์ น้ำหนัก 13.4 กิโลกรัม มังคุด 3 ผลในลูกเดียวกัน และเงาะแฝด ฯลฯ
แล้ว ก็ยังมีการจัดประกวดผลไม้ของดีจังหวัดจันทบุรี ที่เป็นผลไม้ขึ้นชื่อทั้งหลาย ได้แก่ กล้วยไข่ เงาะ ทุเรียน มังคุด ลองกอง สะละ จัดให้เที่ยวกันเต็มที่ไปเลย 10 วัน 10 คืน
...
ยังมี หลายเรื่องเกี่ยวกับเมืองจันท์ที่ฉันเพิ่งรู้ รวมทั้งเรื่องที่น่าตื่นเต้นเกี่ยวกับทุเรียนอีกอย่างก็คือ ตอนนี้จันทบุรีเขาตั้งตัวเป็น "ศูนย์รวมทุเรียนโลก" แล้ว
เจ้าของ ความคิดและผู้ดำเนินการในเรื่องนี้ก็คือ ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตำบลตะปอน อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี
แนวคิดนี้สืบเนื่องมาจากกรมวิชาการเกษตร ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ทุเรียน พร้อมรวบรวมพันธุ์ทุเรียนมาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันมีพันธุ์ทุเรียนปลูกและรวบรวมไว้ในศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี จำนวนไม่น้อยกว่า 500 สายพันธุ์ ภายใต้โครงการอนุรักษ์เชื้อพันธุกรรมทุเรียน
"ศูนย์รวมทุเรียนโลก" นี้ จึงเป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์ทุเรียนมากที่สุดของประเทศไทย และมากที่สุดในโลก ส่วนใหญ่เป็นทุเรียนพันธุ์โบราณดั้งเดิมและหายาก
เช่น กลุ่มพันธุ์ลวง กลุ่มพันธุ์กำปั่น กลุ่มพันธุ์ทองย้อย ซึ่งปัจจุบันสายพันธุ์โบราณเหล่านี้ลดจำนวนลงมากและใกล้จะสูญพันธุ์แล้ว สาเหตุมาจากเกษตรกรได้แห่แหนทำตามๆ กัน คือเปลี่ยนมาปลูกทุเรียนสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตทางการค้าได้ดี อย่างพันธุ์ชะนี ก้านยาว หมอนทอง กระดุมทอง และพวงมณี เป็นต้น
ทุเรียน สายพันธุ์โบราณอันน่าหวงแหนก็เลยถูกลืมเลือนไปสิ้น ทั้งที่มีรสชาติโดดเด่นจะตายไป อย่างเช่น ทุเรียนพันธุ์นกกระจิบ ที่เคยกล่าวถึงเอาไว้แล้ว
"ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี" ซึ่งเป็นศูนย์รวมทุเรียนโลกที่ถือเป็นหน้าตาของบ้านเรา อยู่ห่างจากตัวเมืองจันทบุรี 15 กิโลเมตร มีเนื้อที่ 206 ไร่ มีหน้าที่รับผิดชอบในการค้นคว้าวิจัยเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาพืชสวนเมืองร้อน ที่สำคัญในเขตภาคกลาง และภาคตะวันออก
ได้แก่ เงาะ มังคุด ทุเรียน พืชตระกูลระกำ กระท้อน และพืชสมุนไพร
ถึง แม้จะเป็นศูนย์วิจัย ฟังดูเป็นงานเป็นการ แต่ภายในศูนย์ก็จัดให้มีการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และเกษตรกรรมภาคตะวันออก เช่น การดูนก เดินชมพันธุ์ไม้นานาชนิดเพื่อศึกษาหาความรู้ตามความพอใจ จะอยู่ค้างคืนก็มีที่พักให้ รวมทั้งห้องประชุมสัมมนาให้เช่าด้วย ส่วนใครชอบช็อปปิ้งก็มีผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผลไม้ และผลไม้สดตามฤดูกาลไว้จำหน่ายเพียบ
เรียกว่าใครแวะเข้าไปเที่ยว มีของติดไม้ติดมือกลับบ้านอย่างแน่นอน
สำหรับ การศึกษาวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ทุเรียนในขณะนี้ นอกจากสามารถรวบรวมทุเรียนพื้นเมืองไทยได้มากกว่า 500 สายพันธุ์ แล้ว ยังมีความก้าวหน้าในการผลิตต้นพันธุ์ทุเรียนเพื่อการฟื้นฟู และคืนถิ่นในพื้นที่ซึ่งเกิดปัญหาทำให้ต้นทุเรียนเสียหาย เช่น ทุเรียนแถบสวนเมืองนนท์ ที่ถูกน้ำท่วม เป็นต้น
แล้วก็ยังมีการรวบรวม พันธุ์ทุเรียนภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร รับผิดชอบสนองพระราชดำริในการจัดทำแปลงอนุรักษ์พันธุกรรมทุเรียน และการรวบรวมในพื้นที่วิจัยพืชสวนจันทบุรีอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
ใคร ที่ติดตามข่าวสารของศูนย์รวมทุเรียนโลกแห่งนี้ คงรู้ว่า กรมวิชาการเกษตร ได้ริเริ่มกิจกรรมสนุกๆ เรียกคนเข้าไปชมศูนย์วิจัยด้วยการจัดให้ชิมทุเรียนฟรีต่อเนื่องมา 2 ปีแล้ว สำหรับปีนี้มีขึ้นในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม หลังจากจบงานมหกรรมทุเรียนโลก ปรากฏว่าได้รับความสนใจอย่างล้นหลามเหมือนกัน
"มหกรรมชิมทุเรียน โบราณและหายาก" จัดขึ้นภายในศูนย์วิจัยฯ เพื่อเผยแพร่ทุเรียนสายพันธุ์โบราณ ส่งเสริมให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไปมีจิตสำนึกและเห็นคุณค่าในการอนุรักษ์ พันธุกรรมพืช โดยปีนี้เปิดให้ชิมทุเรียนโบราณ 18 สายพันธุ์ ที่โดดเด่นก็คือ "ก้านทอง" ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่างก้านยาวกับหมอนทอง (พันธุ์ 11-341-1)
ซึ่งว่ากันว่าเป็นสุดยอดลูกผสมทุเรียนไทย หนึ่งเดียวในโลก!
เสียดายที่ตัวเองยังไม่มีโอกาสได้ชิม คงต้องรอไปถึงปีหน้า จะได้รู้ว่าก้านทองกับนกกระจิบใครจะเฉือนใคร
คุณสมบัติ ตงเต๊า ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชสวนจังหวัดจันทบุรี ทุ่มเทกับงานนี้สุดตัว ด้วยกลยุทธ์การตลาดแบบให้ชิมก่อนตัดสินใจซื้อ โดยเฉพาะกับทุเรียนพันธุ์โบราณและสายพันธุ์ลูกผสมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทางด้านวิจัยและเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งวิธีการนี้ชาวสวนหลายคนประสบความสำเร็จมาแล้ว ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือการโปรโมตทุเรียนนกกระจิบของสวนคุณไพบูลย์ที่ จังหวัดระยอง
ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี ดำเนินการรวบรวมพันธุ์ทุเรียนมาตั้งแต่ ปี 2510 ปัจจุบัน เป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์ทุเรียนมากที่สุดในไทย จำนวนทั้งสิ้น 508 สายพันธุ์ แบ่งออกเป็น 6 กลุ่มใหญ่ คือ
1. กลุ่มกบ พบในหลายจังหวัดมาก เช่น ที่สุพรรณบุรี จันทบุรี นนทบุรี ระยอง อาทิ กบตาท้วม กบสีนาก กบการะเกด กบรัศมี กบหน้าศาล กบดำ กบเจ้าคุณ กบวัดกล้วย กบตาขำ กบแม่เฒ่า กบมังกร
2. กลุ่มลวง มีพันธุ์ย่ำมะวาด ลวงทอง ชมพูศรี ลวงมะรุม ชะนี สายหยุด ชะนีก้านยาว ชะนีน้ำตาลทราย มดแดง สีเทา
3. กลุ่มก้านยาว มีก้านยาว ก้าวยาวสีนาก
4. กลุ่มกำปั่น เช่น หมอนทอง ปิ่นทอง ชายมะไฟ กำปั่นตาแพ กำปั่นพวง กำปั่นแดง
5. กลุ่มทองย้อย ได้แก่ ฉัตรสีทอง นมสวรรค์ ทับทิม ธรณีไหว นกหยิบ แดงรัศมี
6. กลุ่มเบ็ดเตล็ด เช่น จอกลอย กะเทยเนื้อขาว เนื้อแดง กระดุมทอง ทองม้วน ตะพาบน้ำ ไอ้เข้ อินทรชิต เป็นต้น
เห็น ไหมคะ ว่าแค่ได้ยินชื่อไม่กี่สิบชื่อ โดยยังไม่เห็นหน้าค่าตาหรือลิ้มชิมรสชาติกันเลย เสน่ห์ของราชาแห่งผลไม้ก็ฉายโชนออกมายั่วยวนให้ค้นหาอย่างน่าทึ่งเลยทีเดียว
ขอสารภาพว่า ตกหลุมรักเรื่องราวของทุเรียนเข้าอย่างจังแล้วแหละ
การเลี้ยงไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,ไส้เดือนดิน,รักษ์ไม้,ฮิวมิคพลัส,มูลไส้เดือนดิน,ปุ๋ยหมัก