สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

รู้มาเล่าไป:วิธีซื้อปุ๋ยป้องกันปลอม

จาก คมชัดลึกออนไลน์

คอลัมน์ รู้มาเล่าไป : วิธีเลือกซื้อปุ๋ยป้องกันปลอม : โดย ... ดลมนัส กาเจ

          วันพุธที่แล้วพูดถึงพวกมิจฉาชีพที่จะมากับฤดูการทำนาที่เกษตรกรต้องระวัง โดยเฉพาะพ่อค้าปุ๋ยปลอม สารเคมีเพื่อการเกษตร รวมถึงเมล็ดพันธุ์ด้อยคุณภาพ ที่ออกล่าเหยื่อตามหมู่บ้านต่างๆ และพวกแก๊งมิจฉาชีพที่ออกอาละวาดลักขโมยเครื่องจักรกลเพื่อการเกษตร ที่ชาวนาทิ้งไว้ที่ทุ่งนา เพราะไม่ต้องการพากลับบ้านให้ยุ่งยาก


          คิดดูสิครับ ลำพังเกษตรกรชาวนาอยู่กันไปวันๆ พอเลี้ยงครอบครัวได้เท่านั้น บางปีก็ประสบความขาดทุน กลุ่มคนเหล่านี้มาหลอกลวง ถือเป็นการซ้ำเติมอีก

          พูดถึงเรื่องของพ่อค้าปุ๋ยปลอม ขณะนี้ทางกรมวิชาการเกษตรได้ออกมาตรการในการป้องกันแล้ว เพื่อให้สอดคล้องกับวันพุธที่แล้ว ผมจึงนำมาตรการและข้อแนะของกรมวิชาการเกษตรมาเล่าสู่กันต่อครับ คือว่าขณะนี้ทางกรมวิชาการเกษตรได้มอบหมายเจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตรทั้งส่วนกลางและภูมิภาค และเครือข่ายสารวัตรเกษตรทั่วประเทศให้ติดตามขบวนการเร่ขายปุ๋ยอย่างใกล้ชิด

          นอกจากนี้ ยังมีการตรวจสอบแหล่งผลิตและสถานที่จำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรอย่างต่อเนื่อง พร้อมให้สุ่มเก็บตัวอย่างปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ สารเคมีการเกษตร และเมล็ดพันธุ์พืชที่วางจำหน่ายในร้านค้ามาตรวจวิเคราะห์คุณภาพด้วย เพื่อปกป้องเกษตรกรไม่ให้ถูกเอาเปรียบ ขณะเดียวกันเกษตรกรเองก็ต้องเลือกซื้อปุ๋ย หรือสารเคมีจากร้านที่เชื่อถือได้ ต้องดูที่มีเครื่องหมายการค้า เลขทะเบียนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมวิชาการเกษตรเพื่อป้องกันตัวเองด้วย และไม่ควรซื้อปุ๋ยจากพ่อค้าเร่ที่ไม่มีหลักแหล่งแน่นอน

          ที่สำคัญ ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อปุ๋ยนั้น กรมวิชาการเกษตรแนะนำว่า เกษตรกรควรเก็บตัวอย่างดินในแปลงของตนเองส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมพัฒนาที่ดิน แล้วใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินและใช้ปุ๋ยตรงตามความต้องการของพืชที่ปลูก อย่างนี้แหละที่เรียกกันว่า"ปุ๋ยสั่งตัด" จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ย และทำให้ได้รับผลตอบแทนคุ้มค่าครับ

          การซื้อปุ๋ยนั้นเกษตรกรต้องสังเกตุครับ ถ้าเป็นปุ๋ยเม็ดจะต้องมีขนาดเม็ดปุ๋ยสม่ำเสมอ เม็ดแข็งพอสมควร ไม่แตกยุ่ยง่าย และต้องไม่จับตัวเป็นก้อนแข็ง เกษตรกรต้องตรวจดูฉลากก่อนซื้อ จะต้องมีคำว่า “ปุ๋ยเคมี” หรือ “ปุ๋ยมาตรฐาน” ทั้งยังต้องมีสูตรเป็นเลขจำนวนเต็ม อาทิ ไนโตรเจนทั้งหมด-ฟอสเฟตที่เป็นประโยชน์-โปแตสที่ละลายน้ำ มีเครื่องหมายการค้าหรือตรา และบนบรรจุภัณฑ์ต้องแสดงน้ำหนักสุทธิ มีชื่อผู้ผลิตและสถานที่จำหน่าย กรณีที่เกษตรกรจะซื้อที่เป็นปุ๋ยน้ำ วิธีดูคือต้องไม่มีตะกอนนอนก้นขวดครับ


          นี่เป็นการแนะนำเบื้องต้น หากเกษตรทำตามโอกาสจะถูกหลอกนั้นจะน้อยลง หรืออาจไม่ถูกหลอกเลยครับ!


----------

(หมายเหตุ : คอลัมน์ รู้มาเล่าไป : วิธีเลือกซื้อปุ๋ยป้องกันปลอม : โดย ... ดลมนัส  กาเจ)


การเลี้ยงไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,ไส้เดือนดิน,รักษ์ไม้,ฮิวมิคพลัส,มูลไส้เดือนดิน,ปุ๋ยหมัก

Tags : รู้มาเล่าไป วิธีซื้อปุ๋ยป้องกันปลอม

view