จาก เดลินิวส์ออนไลน์
จากปัญหาที่ประชาชนสอบถามไปยังโครงการวิจัยด้าน “ทรัพยากรจุลินทรีย์” คณะศิลปศาสตร์และวิทยา ศาสตร์ ว่า เมื่อได้รับแจกหัวเชื้อจุลินทรีย์มีประโยชน์มากจากหน่วยงานต่าง ๆ แต่หัวเชื้อจุลินทรีย์ที่ได้รับแจกมามีจำนวนจำกัด รวมทั้ง หัวเชื้อมีอายุ อาจหมดสภาพ หรือตายลง หากต้องการขยายหัวเชื้อ และต่อหัวเชื้อ ให้มีอายุยาวนาน โดยเลี้ยงหัวเชื้อจุลินทรีย์ที่ได้รับมา เก็บไว้ใช้เองที่บ้าน แต่ไม่มีวัสดุอุปกรณ์ หรือความรู้ทางวิทยาศาสตร์มากนัก จะทำอย่างไร
รองศาสตราจารย์ ดร.จุรีย์รัตน์ ลีสมิทธิ์ หัวหน้าโครงการวิจัยด้าน “ทรัพยากรจุลินทรีย์” บอกว่าหากต้องการเพิ่มจำนวน ขยายเชื้อเก็บไว้ใช้ต่อมีขั้นตอนทำง่าย ๆ ดังนี้ นำมะพร้าว (มะพร้าวอ่อน หรือแก่ก็ได้) มาปอกเปลือกเฉพาะด้านขั้วบน จากนั้นใช้ไขควงลนไฟ เจาะส่วนตามะพร้าวให้เป็นรู หยอดหัวเชื้อจุลินทรีย์ที่ต้องการขยายลงไป แล้วปิดรูที่หยอดเชื้อด้วยพลาสเตอร์ปิดแผลให้สนิท ขณะเจาะตามะพร้าว หยอดหัวเชื้อ ควรติดไฟตะเกียงอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้อากาศบริเวณนั้นเกิดความร้อน จะช่วยลดการปนเปื้อนจากจุลินทรีย์ในอากาศ ลงในการเพาะขยายหัวเชื้อ เก็บมะพร้าวที่ใส่หัวเชื้อจุลินทรีย์แล้วไว้ในที่ร่ม เขย่าทุกวัน วันละ 2 ครั้ง เช้าเย็น นาน 2-3 วัน จะได้หัวเชื้อจุลินทรีย์ที่เพิ่มจำนวนในน้ำมะพร้าว ประมาณ 100-1,000 เท่า การขยายของหัวเชื้อจุลินทรีย์จะดีหรือไม่ ขึ้นกับชนิดของหัวเชื้อและอุณหภูมิภายนอก ช่วงอากาศร้อนหัวเชื้อจุลินทรีย์จะโตเร็วกว่าช่วงหน้าหนาว สังเกตปริมาณมากน้อยของหัวเชื้อหลังขยายได้คร่าว ๆ จากความขุ่นของน้ำมะพร้าว หากขุ่นมากแสดงว่ามีจุลินทรีย์จำนวนมากกว่าน้ำมะพร้าวที่ขุ่นน้อย
การขยายหัวเชื้ออีกวิธีหนึ่ง สามารถทำได้โดย หุงข้าวขาวให้สุก ตักข้าวตอนกำลังสุกใหม่ ๆ ร้อน ๆ ใส่ในถุงพลาสติกที่สะอาด อาจจะโรยกลูโคส ลงไปเล็กน้อยประมาณ 1-2 ช้อนโต๊ะ ต่อข้าว 2 ทัพพี เพื่อช่วยเร่งการขยายหัวเชื้อ (กลูโคสกระป๋องนี้มีจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไป) ใส่หัวเชื้อที่ต้องการขยายลงไป ผสมให้เข้ากัน ปิดปากถุงไว้ ข้อควรระวังเช่นเดียวกันคือ ขณะตักข้าวใส่ถุง หยอดหัวเชื้อ ควรติดไฟตะเกียงอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้อากาศบริเวณนั้นเกิดความร้อน จะช่วยลดการปนเปื้อนจากจุลินทรีย์ในอากาศสู่หัวเชื้อที่ต้องการขยายหัว เชื้อ เก็บถุงข้าวขาวที่ใส่หัวเชื้อจุลินทรีย์แล้วในที่ร่ม นาน 2-3 วัน จะได้หัวเชื้อจุลินทรีย์ที่โตในข้าวขาว ประมาณ 10-100 เท่า
เทคนิคการต่อหัวเชื้อ และขยายหัวเชื้อนี้ มีข้อควรระวังคือ การปนเปื้อนของจุลินทรีย์ในสิ่งแวดล้อมทั่วไป ที่อาจตกลงไปในระหว่างขั้นตอนการถ่ายหัวเชื้อ เนื่องจากจุลินทรีย์ที่ปนเปื้อนสามารถเติบโตได้ดีในน้ำมะพร้าว หรือข้าวขาวเช่นกัน การปนเปื้อนนี้ สามารถป้องกันได้ โดยพยายามใช้ความร้อนช่วยระหว่างการถ่ายเชื้อ เช่น ใช้ไขควงลนไฟเจาะรู ใช้ข้าวที่หุงสุกใหม่ ๆ กำลังร้อน หรือลนไฟอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องด้วยไฟแช็ก การตักข้าวใส่ถุง การหยอดหัวเชื้อ ควรทำขณะติดไฟตะเกียงอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้อากาศบริเวณนั้นเกิดความร้อน น้ำมะพร้าวและข้าวขาวหุงสุก ส่งเสริมการโตของหัวเชื้อจุลินทรีย์ส่วนใหญ่ได้ แต่การขยายหัวเชื้อจะดีมากน้อยแค่ไหน คงต้องใช้ความสังเกตหัวเชื้อที่ขยายแล้ว หัวเชื้อจุลินทรีย์บางชนิด อาจมีความชอบอาหารต่าง ๆ กัน รวมทั้งเชื้อหลายชนิด ที่อยู่ในหัวเชื้อจุลินทรีย์ อาจจะมีอัตราการเติบโตในวัตถุเพาะเลี้ยงไม่เท่ากัน
โครงการฯ ยังมีองค์ความรู้ที่น่าสนใจเกี่ยวกับจุลินทรีย์อีกมากมาย อาทิ น้ำหมักชีวภาพสูตรส่งเสริมการโต สูตรต้านโรค หัวเชื้อจุลินทรีย์ธรรมชาติเพื่อการเกษตร ผู้สนใจสามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมด้าน “ทรัพยากรจุลินทรีย์” ได้ที่ รองศาสตราจารย์ ดร.จุรีย์รัตน์ ลีสมิทธิ์ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน โทรศัพท์ 0-3428-1105-6 ต่อ 7654 อีเมล jureerat.c@ku.ac.th คณะผู้วิจัยขอขอบพระคุณที่ปรึกษา ศ.ดร.ธีระ สูตะบุตร (ประธานคณะกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติและอดีต รมว.เกษตรและสหกรณ์) ผศ.ดร.ชานันก์ สุดสุข และ ดร. อนามัย ดำเนตร.
การเลี้ยงไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,ไส้เดือนดิน,รักษ์ดิน,ฮิวมิคพลัส,มูลไส้เดือนดิน,ปุ๋ยหมัก