สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ

จาก เดลินิวส์ออนไลน์

นายปราโมทย์  ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวระหว่างการเสวนาพิเศษในหัวข้อ “การบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ” ในงานนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา ประโยชน์สุขสู่ปวงประชา ซึ่งจัดขึ้น ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันก่อนว่า แนวทางการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลกับการบริหารจัดการน้ำของพระบาทสมเด็จพระ เจ้าอยู่หัว ค่อนข้างแตกต่างกัน

โดยแนวทางตามแนวพระราชดำรินั้น ไม่ได้ดูเพียงแค่น้ำเป็นเป้าหมายหลัก หากยังศึกษาภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ที่พระองค์จะพระราชทานความช่วย เหลือด้วย ทรงเน้นการบริหารจัดการน้ำด้วยการสร้างแหล่งน้ำในระดับชุมชน หมู่บ้าน และตำบลเป็นหลัก เพื่อให้ประชาชนมีน้ำพอกินพอใช้ตลอดทั้งปี และสร้างเศรษฐกิจของตนเองได้ 

“แนวพระราชดำริการจัดการน้ำในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น พระองค์จะรับสั่งว่า ถ้าทำแล้วจะต้องให้ประชาชนในที่ทุรกันดารมีน้ำใช้ที่เพียงพอ ไม่ต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ พวกเขาอยู่อย่างมีความสุข ก็ถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าแล้ว ที่สำคัญทุกครั้งไม่ว่าพระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินไปบริหารจัดการน้ำพื้นที่ ใดก็ตาม ก็จะทรงทำประชาพิจารณ์ให้ชาวบ้านในพื้นที่มีส่วนร่วมในการออกความคิดเห็น เสมอ ว่าเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าวหรือไม่ เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบเดือดร้อน หรือถ้าจะได้รับผลกระทบก็ให้เกิดน้อยที่สุด” นายปราโมทย์ ไม้กลัด กล่าว

ส่วนแนวพระราชดำริเรื่องการจัด การน้ำกรณีของภัยพิบัติ โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลนั้น อดีตอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2538 ได้สะสมให้เกิดเป็นแนวพระราชดำริของพระองค์ท่านเป็นลำดับเรื่อยมา ในปี 2538 พระองค์ได้พระราชทานพระราชดำริว่าควรจะต้องมีมาตรการระบายน้ำอุทกภัยออกสู่ ทะเลอ่าวไทยให้เร็วที่สุด ไม่เช่นนั้นจะเกิดน้ำล้นตลิ่งและเข้าท่วมบ้านเรือน นับตั้งแต่บริเวณทุ่งรังสิต มีนบุรี หนองจอก ลาดกระบัง จะถูกน้ำเข้าโจมตี และเกิดการติดขัดไปหมด

“พระองค์รับสั่งว่าต้องระบายน้ำทางนี้ให้ออกสู่อ่าวไทยให้เร็ว ต้องมีแฟลตเวย์ ซึ่งก็มีแฟลตเวย์ทางธรรมชาติอยู่แล้วทางด้านทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ทรงหมายถึงแนวคลองรังสิต รวมไปถึง มีนบุรี หนองจอก ลาดกระบัง บางพลี บางบ่อ ลอดสู่ถนนสุขุมวิท ออกสู่อ่าวไทย ซึ่งแฟลตเวย์ธรรมชาติที่พระองค์รับสั่ง ตั้งแต่ในปี 2523, และปี 2533 จนกระทั่งถึงปี 2538 ก็รับสั่งว่าอย่าอั้นน้ำเอาไว้ ให้เร่งระบายออกสู่อ่าวไทยให้เร็ว รวมทั้งคันกั้นน้ำ ก็ต้องทำตามความเหมาะสม ไม่ใช่สู้ด้วยระบบคันกั้นน้ำเพียงอย่างเดียว ต้องระบายน้ำให้เร็วที่สุด เพราะไม่อย่างนั้นกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะลำบาก” นายปราโมทย์  ไม้กลัดกล่าว

แนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งนอกจากการบริหารจัดการน้ำเพื่อป้องกันและบรรเทาอุทกภัย ตลอดจนน้ำแล้งแล้ว ยังรวมถึงด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ ที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมอันรวมไปถึง น้ำ ป่าไม้ และทุกสรรพสิ่ง

ทางด้าน นายเฉลิมเกียรติ  แสนวิเศษ เลขาธิการ กปร. กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวทางให้มาพิจารณาและดำเนินการด้าน ดูแลรักษาสภาพป่าไม้ ซึ่งถือเป็นแหล่งกักเก็บน้ำที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่ป่าต้นน้ำ ป่าเศรษฐกิจ รวมถึงป่าพื้นที่ต่าง ๆ ที่มนุษย์ใช้ประโยชน์ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนต้องใช้เวลา ดังนั้นแนวพระราชดำริของพระองค์จึงต้องการให้เราทำอย่างไรเพื่อเป็นการดูแล รักษาน้ำ และป่าไม้ รวมไปถึงต้องดูแลทุกสรรพสิ่ง ดังนั้นเมื่อจะทำอะไรต้องคำนึงถึงความเหมาะสม ความพร้อม และต้องคำนึงถึงสภาพภูมิสังคมที่เป็นอยู่ สภาพที่เป็นป่าก็ควรที่จะเป็นป่า สภาพที่เป็นแม่น้ำลำคลองก็ควรที่จะอยู่ในสภาพนั้น นี่เป็นโครงสร้างพื้นฐานตามแนวพระราชดำริ

“สิ่งที่สำคัญที่สุดนั้นต้องมีการบริหารจัดการให้เกิดความพอเหมาะพอควร ถูกต้องตามจุดต่าง ๆ เช่น ป่าที่อยู่บนภูเขา พระองค์ได้พระราชทานพระราชดำริว่า ป่าบนภูเขาค่อนข้างเป็นไม้โตเร็ว แข็งแรง และดูดซับน้ำเพื่อรองรับน้ำไว้ใช้เอื้อประโยชน์ต่อสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ได้ ส่วนร่องน้ำก็ควรดูลักษณะว่าควรจะปลูกอะไรในร่องน้ำ เพื่อที่ช่วยชะลอการไหลของน้ำไม่ให้ไหลลงมาอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นการบริหารจัดการด้านป่าไม้ก็เป็นสิ่งที่สำคัญและต้องใช้เวลามาก และต้องใช้การวางแผนที่ดีเช่นกันและต้องช่วยกันรักษาป่า ปลูกป่า อย่าทำลายป่า” นายเฉลิมเกียรติ  แสนวิเศษ กล่าว.


การเลี้ยงไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,ไส้เดือนดิน,รักษ์ดิน,ฮิวมิคพลัส,มูลไส้เดือนดิน,ปุ๋ยหมัก

Tags : การบริหารจัดการน้ำ ตามแนวพระราชดำริ

view