สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

หลังน้ำลด ทำการเกษตรอย่างไร?

จาก เทคโนโลยีชาวบ้าน

กองบรรณาธิการ

หลังน้ำลด ทำการเกษตรอย่างไร?

จาก เหตุการณ์อุทกภัยกินพื้นที่กว้างหลายจังหวัดของประเทศ ความเสียหายทางเศรษฐกิจคณานับ โดยเฉพาะพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งเป็นหัวใจหลักของประเทศ เรื่องนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ประเมินความเสียหายภาคการเกษตรจากอุทกภัยว่า มีพื้นที่เสียหายประมาณ 15 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ปลูกข้าว ประมาณ 13 ล้านไร่ ที่เหลือเป็นพื้นที่ปลูกพืชไร่และอื่นๆ คาดว่ามูลค่าความเสียหายโดยรวมจะสูงถึง 80,000 ล้านบาท

อย่างไร ก็ตาม สศก. คาดว่า เบื้องต้นจะมีการชดเชยความเสียหาย โดยแบ่งเป็นพื้นที่นา ได้รับค่าชดเชย 2,222 บาท ต่อไร่ พืชไร่ 3,350 บาท ต่อไร่ และพืชสวนอื่นๆ 5,098 บาท ต่อไร่

แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่เฉพาะพืช แต่ยังส่งผลถึงสัตว์ ซึ่งเป็นงานเกษตรกรรมหนึ่ง ทั้งการปศุสัตว์และการประมง รวมถึงสัตว์เลี้ยงซึ่งแม้ไม่ได้เป็นงานเกษตรกรรม แต่ก็ถือเป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคน

ฉบับนี้ เทคโนโลยีชาวบ้าน ขออาสาพาไปดูการฟื้นฟูภาคเกษตรกรรมที่เชื่อว่าสามารถทำได้ไม่ยุ่งยากแต่อย่างใด



ไม้ผล ยังมีหนทางสว่าง

กล้วย และมะละกอ...ขอเป็นตัวช่วย


สำหรับ ผู้ที่ถูกน้ำท่วม ไม้ผล ไม้ยืนต้นตาย ต้องขอแสดงความเสียใจด้วยอย่างยิ่ง ไม้ผลบางชนิดกว่าที่จะปลูกให้รอดและให้ผลผลิตได้ ต้องใช้เวลานาน 3-5 ปี

แต่ จะทำอย่างไรได้ เมื่อเสียหายไปแล้ว ต้องกลับมาฟื้นกันใหม่ เพราะหากใครมีอาชีพหลักในการปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น จะให้หันไปเลี้ยงกุ้ง คงเป็นเรื่องลำบาก

เรื่องราวของไม้ผลหลังน้ำลด คุณทวีศักดิ์ ด้วงทอง ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมการผลิตไม้ผล กรมส่งเสริมการเกษตร อีกในฐานะหนึ่ง คือที่ปรึกษานิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน มาให้แนวคิดเกี่ยวกับการฟื้นฟูสวนหลังน้ำท่วม ดังต่อไปนี้

กรณีที่ต้นไม้ยังเสียหายไม่หมด

"กรณี ของต้นไม้ยังไม่ตาย ดินยังไม่แห้ง อย่าไปเหยียบย่ำที่โคนต้น ขณะเดียวกันก็พยายามหาทางระบายให้น้ำไหลออกให้เร็วที่สุด เมื่อดินแห้งแล้ว ต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่ ควรตัดแต่งกิ่งเพื่อป้องกันการคายน้ำมาก จากนั้นให้ปุ๋ยทางใบ เป็นการบำรุงต้น" คุณทวีศักดิ์ ให้คำแนะนำ

สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด...ควรทำอย่างไร

"หาก พื้นที่ปลูกไม้ยืนต้นเสียหายทั้งหมด ควรรีบหาพืชอายุสั้นเข้าไปปลูก พืชอายุสั้นที่ว่าอายุเก็บเกี่ยวได้หลังปลูก 30-45 วัน เมล็ดพันธุ์มีจำหน่ายทั่วไป หากพอมีทุนก็ซื้อปลูกเอง ทางราชการก็มีงบฯ สนับสนุนบ้าง" คุณทวีศักดิ์ บอก

ในระหว่างที่เริ่มลงไม้ผลหลักที่เคย ปลูกอยู่ เป็นต้นว่าเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วง มะพร้าว ส้มโอ ผอ. ทวีศักดิ์ แนะนำว่า ควรจะพิจารณาปลูกไม้ผลอายุสั้นลงในพื้นที่ไปก่อน หรือลงไปพร้อมๆ กัน ไม้ผลอายุสั้นที่ว่าประกอบไปด้วย กล้วย และมะละกอ

หลังปลูก 6-7 เดือน มะละกอสามารถเก็บผลผลิตได้ หากเป็นมะละกอส้มตำเก็บได้เร็วกว่านี้ สำหรับกล้วยปลูกไปแล้ว 8-9 เดือน ก็มีผลผลิต การปลูกพืชผลอายุสั้นอย่างกล้วยและมะละกอ สามารถแซมในระหว่างไม้ผลหลักได้ทันที หรือจะปลูกไปก่อน แล้วปลูกไม้ผลหลักทีหลัง ก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด

"กล้วย ซื้อหน่อราคาไม่แพง 5-10 บาท เป็นกล้วยน้ำว้าก็ได้ กล้วยหอมทองก็ได้ มะละกอก็ซื้อผลมากิน นำเมล็ดมาเพาะได้เลย หากต้องการขายมะละกอสุกก็ปลูกพันธุ์ฮอลแลนด์ แขกดำ หากมะละกอกินดิบหรือส้มตำก็ปลูกแขกนวล การหาพันธุ์มะละกอไม่ยุ่งยาก ปอกกินเนื้อ นำเมล็ดมาเพาะ 15-20 วัน ก็ปลูกได้แล้ว ส่วนการเลือกหน่อกล้วย ควรเลือกหน่อที่อ้วน ใบแคบ เมื่อนำลงปลูกจะเจริญเติบโตเร็ว หากเป็นหน่อใหญ่ ใบกว้าง เมื่อปลูกควรตัดใบหรือยอดทิ้ง จะเจริญเติบโตเร็ว ต่างจากที่ไม่ตัดจะเจริญเติบโตช้า" ผอ. ทวีศักดิ์ อธิบาย

สำหรับการดูแลรักษานั้น

เมื่อเริ่มปลูก หากมีปุ๋ยอินทรีย์ใส่ให้ก็จะดียิ่ง เหตุที่มีปุ๋ยแล้วดี เพราะหลังน้ำท่วม ดินยังขาดความอุดมสมบูรณ์

เรื่องการรดน้ำก็มีความจำเป็น ถึงแม้จะผ่านเหตุการณ์น้ำท่วมไปแล้วก็ตาม

ส่วน ไม้ผลของท้องถิ่น ที่เป็นเอกลักษณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร ก็ให้ความสนใจ ซึ่งจะว่ากันหลังน้ำลดไปแล้ว ไม้ผลที่ว่าก็เช่น ทุเรียน จังหวัดนนทบุรี ส้มโอขาวแตงกวา จังหวัดชัยนาท

ผอ. ทวีศักดิ์ บอกว่า เรื่องของทุเรียน อยากทำเป็นต้นแบบออกมา เป็นต้นว่า ทุเรียนเมืองนนท์ ทำไมคุณภาพดี เมื่อมีต้นแบบแล้ว คนท้องถิ่นอาจเกรงว่าจะมีน้ำท่วมซ้ำซาก ก็จะนำต้นแบบไปให้เกษตรกรถิ่นอื่นพิจารณา เช่น นำไปปลูกที่นครนายก ปราจีนบุรี เป็นต้น

"กรมส่งเสริมการเกษตร เตรียมเรื่องของพันธุ์พืชอยู่ส่วนหนึ่ง เมื่อน้ำท่วมได้รับความเสียหาย เกษตรกรคงปลูกไม้แบบเดิมที่เขาเคยปลูก แต่ควรซื้อต้นพันธุ์จากแหล่งที่เชื่อถือได้ ช่วงนี้ ราคาต้นพันธุ์อาจจะแพงพอสมควร เพราะพื้นที่เสียหายมีมาก" ผอ. ทวีศักดิ์ แนะนำ

จากประสบการณ์ที่นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านพบเห็นมา พืชอีกชนิดหนึ่งที่ควรพิจารณานำเข้าไปปลูกเสริมในระบบสวนคือ "ไผ่"



ทั้ง นี้ เพราะปัจจุบัน มีการพัฒนาพันธุ์ไผ่ ได้สิ่งใหม่ๆ ออกมา เป็นที่น่าสนใจมาก บางสายพันธุ์ ปลูกเพียง 8 เดือน ก็เริ่มให้หน่อแล้ว หากต้องการปลูกไผ่ ควรกันที่ไว้ส่วนหนึ่ง ปลูกเดี่ยวๆ ก็จะดี เพราะรากของไผ่แรงมาก เคยมีคนปลูกไผ่แล้วแซมกล้วยเข้าไป ปรากฏว่า กล้วยสู้ไผ่ไม่ได้

ที่แนะนำตรงนี้ ไม่ได้หมายความว่า เกษตรกรทั่วประเทศต้องหันมาปลูกไผ่กัน

แต่ อยากนำเสนอไว้เป็นทางเลือก เพราะประโยชน์จากไผ่นั้นมีมากมายมหาศาล หากปลูกไม่มากนัก หน่อใช้ปรุงอาหารได้หลากหลายอย่าง ลำไผ่ใช้ประโยชน์ในการก่อสร้าง

ผู้ที่ศึกษาเรื่องไผ่อย่างจริงจัง แทนที่จะเป็นพืชเสริม อาจจะเป็นอาชีพหลักเลยก็ได้

เกษตรกร ที่ลงมือปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น ที่มีอายุ 3-5 ปี จึงจะเก็บผลผลิตได้เป็นกอบเป็นกำ ก่อนที่จะเก็บผลผลิตจากพืชหลักได้ มะละกอและกล้วยช่วยเกษตรกรได้

เรื่องราวที่ ผอ. ทวีศักดิ์ แนะนำมา ไม่ได้สงวนลิขสิทธิ์ ผู้อ่านสามารถนำไปปรับใช้ได้ตามสะดวก



ปรับปรุงดิน-เพาะกล้า ก่อนลงแปลง

รดน้ำปูนใส เพิ่มความแข็งแรงให้ผัก


สำหรับ พืชผักที่ใช้เป็นหลักในการประกอบอาหารนำมาบริโภคในชีวิตประจำวัน หากได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในวงกว้าง ราคาผลผลิตที่จำเป็นต่อการบริโภคย่อมสูงขึ้นตามมูลค่าความเสียหายไปด้วย

มาดูวิธีฟื้นฟูและการปลูกพืชผักหลังน้ำลดกันดีกว่า

คุณ อรสา ดิสถาพร ผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมและจัดการการผลิตพืชผัก ไม้ดอกไม้ประดับ และพืชสมุนไพร กรมส่งเสริมการเกษตร แนะเกษตรกรผู้ปลูกผักเป็นอาชีพว่า สิ่งที่ควรคำนึงถึงอันดับแรก คือ น้ำลดแล้วจริงหรือ เพราะผักเป็นพืชรากสั้น หากเกิดภาวะน้ำท่วมซ้ำซากขึ้นมาอีกพืชผักไม่เจริญเติบโตแน่นอน

ถ้าแน่ใจว่าน้ำลดแล้วอย่างแน่นอน การลงมือปลูกพืชผักใหม่ทันทีทำได้ แต่จะทำให้รากเน่า

สิ่งที่ควรทำ

1. รอให้ดินแห้งระยะหนึ่งก่อน และไม่ควรย่ำดินขณะที่ดินยังอุ้มน้ำอยู่ เพราะจะทำให้ดินแน่น การปรับปรุงคุณภาพดินทำได้ไม่ดี อีกทั้งดินที่อุ้มน้ำมากจะเป็นดินที่ขาดออกซิเจน ไม่เหมาะสำหรับการปลูกพืช

2. เมื่อดินแห้ง ให้ปรับปรุงดินด้วยอินทรียวัตถุ เช่น ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก

3. ใส่สารชีวภัณฑ์ จำพวกไตรโคเดอร์ม่า ซึ่งเป็นสารกำจัดเชื้อราในดิน ช่วยให้การเจริญเติบโตของพืชผักไม่เกิดปัญหา

ระยะ การเตรียมดิน ควรพิจารณาชนิดผักที่ปลูกให้ดี เพราะบางชนิดไม่สามารถปลูกลงดินได้ทันทีหากดินมีความอุดมสมบูรณ์ไม่เพียงพอ อาจทำให้เกิดปัญหาหลังปลูกได้

"ความเคยชินของเกษตรกรส่วนใหญ่ในการ ปลูกผักจะหว่านเมล็ดพืชลงดิน แต่ระยะเตรียมดินแนะนำว่า ควรเพาะกล้าหรือปลูกลงแปลงเล็กๆ ไว้ก่อน เพื่อการดูแลที่ง่าย หลังจากดินแห้งจึงย้ายกล้าที่เพาะไว้ลงดิน โอกาสพืชผักเติบโตโดยไม่เกิดปัญหาจะดีกว่า"

หากพบว่า หลังปลูกแล้วอากาศชื้นมาก หรือฝนตก อาจเกิดปัญหา สามารถเพิ่มความแข็งแรงให้กับพืชผักด้วยการรดน้ำปูนใสอีกทาง

คุณ อรสา บอกด้วยว่า หากเกษตรกรต้องการผลผลิตในระยะสั้น เพราะเกรงว่าภัยธรรมชาติอาจก่อกวนได้ในระยะเวลาอันใกล้ ควรเลือกปลูกผักที่เก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็ว เช่น ผักบุ้ง ผักกวางตุ้ง ผักคะน้า และผักตระกูลกะหล่ำ เพราะผักเหล่านี้เก็บจำหน่ายได้ตั้งแต่ยังเป็นต้นกล้า

เพียงเท่านี้ก็หมดข้อกังวลสำหรับผู้ปลูกพืชผัก ทั้งเกษตรกรผู้ผลิตและการปลูกไว้รับประทานเองหลังน้ำลด



ท้องเสีย ไร้สาเหตุ-ปอดบวม เฉียบพลัน

อันตรายใกล้ตัว "สัตว์เลี้ยง"




ผล กระทบที่ต่อเนื่องจากอุทกภัย ไม่เพียงแต่ส่งผลเฉพาะบุคคล แต่สัตว์เลี้ยงที่อยู่เคียงคู่และเคียงข้างกับคนยังพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย

แม้ จะมีการเปิดศูนย์พักพิงสำหรับสุนัขและแมวในสถานที่ต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอีกหลายแห่ง เพื่อบรรเทาปัญหาสัตว์เลี้ยงล้มตายจากอาการเจ็บป่วยหรือขาดอาหารและน้ำดื่ม แต่สิ่งที่ส่งผลต่อสภาวะทางจิตใจและร่างกายของสัตว์เลี้ยงมากที่สุด คือ เจ้าของ

น.สพ.อลงกรณ์ มหรรณพ ที่ปรึกษาโครงการส่วนพระองค์จิตรลดา ให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพกายและจิตใจสัตว์เลี้ยงในภาวะน้ำท่วม รวมถึงหลังน้ำลด โดย น.สพ.อลงกรณ์ ระบุให้เห็นชัดว่า ขณะที่เกิดภาวะน้ำท่วม ซึ่งสัตว์เลี้ยงต้องแช่น้ำอยู่เป็นเวลานาน จะทำให้สัตว์เลี้ยงเกิดภาวะเครียด และเกิดโรคตามมา โดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ และโรคระบบทางเดินอาหาร

ในโรค ระบบทางเดินหายใจที่พบบ่อยและเป็นอันตรายถึงชีวิต คือ โรคปอดบวมเฉียบพลัน ซึ่งวิธีแก้ไข ควรนำสัตว์เลี้ยงขึ้นจากน้ำทันทีที่ทำได้ ทำความสะอาดร่างกายสัตว์เลี้ยงให้สะอาด เช็ดตัวให้แห้ง และให้อยู่ในที่ที่มีความอบอุ่นเพียงพอ นอกจากนี้ โรคที่น่ากังวลมากที่สุดขณะที่น้ำยังท่วมขังและสัตว์เลี้ยงแช่อยู่ในน้ำ คือ โรคเลปโตสไปโรซีส (Leptospirosis) หรือโรคฉี่หนู ซึ่งอาจพบได้ในสัตว์เลี้ยงที่มีแผลที่ลำตัวและเท้าแล้วแช่ในน้ำที่มีเชื้อ ดังกล่าวอยู่ เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผลของสัตว์เลี้ยง จะทำให้เชื้อเข้าสู่กระแสเลือดและอาจเสียชีวิตโดยฉับพลัน



สำหรับ โรคทางเดินอาหารที่พบคือ สัตว์เลี้ยงมีอาการท้องเสียโดยไม่ทราบสาเหตุ ทำให้การรักษาหลังน้ำลดทำได้ยาก เนื่องจากสัตวแพทย์ไม่สามารถหาสาเหตุอาการป่วยของโรคได้

"แม้สัตว์ เลี้ยงจะไม่ได้ถูกทิ้งแช่น้ำเป็นเวลานาน แต่อาจถูกนำไปฝากเลี้ยงยังสถานรับฝาก ทำให้สัตว์เลี้ยงต้องอยู่กับสัตว์เลี้ยงแปลกหน้า ภาวะเช่นนี้จะทำให้เกิดอาการเครียด ดังนั้น เมื่อนำไปฝากวันแรกควรปลอบประโลมสัตว์เลี้ยง ให้สัตว์เลี้ยงรู้สึกเคยชินกับที่อยู่ใหม่ และเมื่อเจ้าของสามารถรับสัตว์เลี้ยงกลับมาเลี้ยงได้ด้วยตัวเองแล้ว สิ่งแรกที่ควรทำคือ ใช้คำพูดปลอบประโลมหรือแสดงออกทางร่างกายให้สัตว์เลี้ยงรู้ว่าเขาได้รับการ ดูแลอย่างปลอดภัยแล้ว"

อย่างไรก็ตาม น.สพ. อลงกรณ์ บอกด้วยว่า สิ่งที่จำเป็นมากที่สุดหลังน้ำลด คือการพาสัตว์เลี้ยงไปพบสัตวแพทย์ เพื่อตรวจร่างกาย จากนั้นให้การดูแลตามปกติเหมือนเดิม

และวิธีเช่นนี้จะช่วยลดความเครียด ซึ่งผู้อ่านสามารถนำไปใช้ได้กับสัตว์เลี้ยงทุกชนิด



นับหนึ่งใหม่ กับเลี้ยงปศุสัตว์หลังน้ำท่วม

น้ำ ท่วมได้สร้างความเสียหายให้กับภาคเกษตรของประเทศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในด้านปศุสัตว์ มีตัวเลขความเสียหายที่รายงานโดยกรมปศุสัตว์ บอกว่า ตั้งแต่ วันที่ 30 กรกฎาคม ถึงวันที่ 17 ตุลาคม 2554 มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 49 จังหวัด 243 อำเภอ 1,043 ตำบล เกษตรกรได้รับผลกระทบ 153,726 ราย

สัตว์ได้รับผลกระทบรวม 12.4 ล้านตัว ประกอบด้วย โค 202,433 ตัว กระบือ 25,517 ตัว สุกร 180,505 ตัว แพะ 12,415 ตัว แกะ 740 ตัว เป็ด 3.1 ล้านตัว ไก่พื้นเมือง 6.4 ล้านตัว ไก่เนื้อ ไก่ไข่ 1.5 ล้านตัว

จากตัวเลขความเสียหายที่เกิดขึ้น ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ได้สร้างความสูญเสียด้านเศรษฐกิจให้กับเกษตรกรเป็นอย่างมาก ซึ่งหนทางที่ดีที่สุดในการป้องกันและลดการสูญเสียอันเนื่องมาจากน้ำท่วมคือ การรีบเคลื่อนย้ายสัตว์ไปอยู่ในที่ปลอดภัย และจัดเตรียมน้ำ อาหาร ไว้ให้สัตว์อย่างเพียงพอ และหมั่นสังเกตดูอาการของสัตว์ว่ามีอาการป่วยหรือไม่ กรณีพบสัตว์ป่วยให้แยกสัตว์ออกจากฝูง และรีบแจ้งปศุสัตว์ตำบล หรือปศุสัตว์อำเภอ เพื่อดำเนินการช่วยเหลือ ลดความเสียหาย โดยแจ้งขอความช่วยเหลือได้ ที่ สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด ใกล้บ้าน

อย่างไรก็ตาม นอกจากจะดูแลสัตว์ที่เลี้ยงแล้ว ตัวเกษตรกรเองก็ต้องดูแลรักษาร่างกาย เมื่อเจ็บป่วยก็ต้องรับประทานยา และวิตามินเสริมบำรุงร่างกายให้แข็งแรง และหากต้องลงในพื้นที่น้ำท่วมขัง เกษตรกรต้องสวมรองเท้าบู๊ตทุกครั้ง เพื่อป้องกันโรคเลปโตสไปโรซีส หรือโรคฉี่หนู ซึ่งเป็นโรคสัตว์ติดคนที่อาจมีอันตรายถึงชีวิตได้

ขณะเดียวกันมีข้อ แนะนำจาก นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ถึงกรณีสัตว์ที่ตายเนื่องจากน้ำท่วม โดยสาเหตุการตายนั้นจะมีได้ทั้งจากการป่วยเป็นโรคตาย หรืออาจจมน้ำตาย

การ ตายของสัตว์ทั้งสองกรณีสิ่งที่ตามมาจะเกิดการเน่าสลาย เป็นแหล่งของเชื้อโรค โดยเชื้อที่จะก่อให้เกิดโรคที่สำคัญ ได้แก่ เชื้อแบคทีเรียอีโคไล (E.Coli) เชื้อซาโมเนลร่า (salmonella) บางกรณีอาจพบเชื้อแบคทีเรีย สเตปฟิโลค็อกคัส (staphylococcus)



ซึ่งเชื้อเหล่านี้จะสามารถเข้าสู่ ร่างกายทางอาหาร น้ำ และทางบาดแผล ทำให้เกิดโรคบิด ท้องร่วง และอาหารเป็นพิษได้ ถ้าเข้าทางบาดแผลจะเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ ดังนั้น ถ้ามีบาดแผล โดยเฉพาะที่ขาหรือเท้าจึงควรหลีกเลี่ยงการลุยน้ำในพื้นที่ที่มีซากสัตว์ตาย

นอกจากนี้ ยังแนะนำประชาชนไม่ควรนำสัตว์ที่ตายมารับประทานหรือชำแหละจำหน่าย

สำหรับซากสัตว์ที่ตายควรกำจัดโดย ถ้าเป็นสัตว์ขนาดเล็ก ให้ใส่ถุงดำผูกปากถุงให้แน่น นำไปฝังหรือให้หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่นำไปกำจัด

แต่ ถ้าเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ หรือกรมปศุสัตว์ สาธารณสุข เพื่อมาเคลื่อนย้ายหรือกำจัดซากสัตว์ให้ถูกต้อง ถ้าเป็นพื้นที่ห่างไกลจากความช่วยเหลือของทางราชการต้องหลีกเลี่ยงบริเวณที่ มีซากสัตว์เน่า ห้ามใช้น้ำในบริเวณนั้น ให้หลีกเลี่ยงจากการสัมผัสซากสัตว์โดยตรง

และเมื่อผ่านพ้นเหตุการณ์ น้ำท่วมแล้ว สิ่งที่เกษตรกรควรทำคือ การตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้นกับการเลี้ยงสัตว์ของตนเองและดำเนินการขอ ความช่วยเหลือไปยังส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยติดต่อกับเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในพื้นที่ เพื่อขอรับความช่วยเหลือ พร้อมทั้งการเร่งทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรค เล้า โรงเรือน คอกเลี้ยงเพื่อนำสัตว์เข้าเลี้ยงใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ทั้งนี้ นายสัตวแพทย์ทฤษดี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ในส่วนของการเตรียมการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟู หลังน้ำลดนั้น กรมปศุสัตว์จะของบประมาณฟื้นฟูหลังน้ำลด เป็นเงิน 820 ล้านบาท เป็นงบประมาณสำหรับการฟื้นฟูด้านสุขภาพสัตว์และการป้องกันโรคระบาดสัตว์ ซึ่งตั้งเป้าหมายไว้ จำนวนสัตว์ 1.5 ล้านตัว โดยจัดหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่เข้าดำเนินการในพื้นที่ประสบภัยทุกจังหวัด และเตรียมสำรองวัคซีนป้องกันโรค เวชภัณฑ์ รักษาสัตว์ ยาฆ่าเชื้อ ไว้ดำเนินการตามความจำเป็น



นอกจากนี้ เกษตรกรที่ต้องการฟื้นฟูฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะการฟื้นฟูแปลงพืชอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์จะมีการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชอาหารสัตว์ หน่อพันธุ์ ท่อนพันธุ์ ซึ่งตั้งเป้าหมายจะผลิตเสบียงอาหารสัตว์ จำนวน 10,000 ตัน โดยให้กองอาหารสัตว์เตรียมเมล็ดพันธุ์พืชอาหารสัตว์และหน่อพันธุ์ ท่อนพันธุ์ รวมทั้งให้แต่ละจังหวัดเร่งสำรวจพื้นที่ที่ต้องการฟื้นฟูแปลงหญ้าเลี้ยง สัตว์เพื่อแจ้งความต้องการขอรับการสนับสนุน

"นอกจากนี้ ยังจะมีการจัดฟื้นฟูอาชีพแก่เกษตรกรตามความต้องการและเหมาะสมของแต่ละ พื้นที่ ซึ่งตั้งเป้าหมายที่จะส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสัตว์ปีก จำนวน 200,000 ราย โดยหน่วยงานในสังกัดเร่งผลิตพันธุ์สัตว์ปีก เช่น เป็ดเทศ เป็ดไข่ และไก่พื้นเมือง"

"ส่วนการชดเชยความเสียหาย ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการฯ และตามหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยฯ พ.ศ. 2552 นั้น กรมปศุสัตว์ ได้สั่งการให้แต่ละจังหวัดเร่งสำรวจความเสียหายตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อของบประมาณ" อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวในที่สุด

ทั้งหมดคือ สิ่งที่เกษตรกรจะทำได้ภายหลังจากน้ำลดแล้ว ทั้งที่มาจากการช่วยเหลือตนเองและมาจากการช่วยเหลือของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง



หลักเกณฑ์ช่วยเหลือด้านปศุสัตว์ หลังน้ำท่วม ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

เกณฑ์การช่วยเหลือต่อราย



1. โค-กระบือ /ไม่เกินรายละ 2 ตัว

- อายุน้อยกว่า 6 เดือน /อัตราตัวละ 3,600

- อายุ 6 เดือน ถึง 1 ปี /อัตราตัวละ7,800

- อายุมากกว่า 1 ปี ถึง 2 ปี /อัตราตัวละ10,500

- อายุมากกว่า 2 ปี ขึ้นไป /อัตราตัวละ15,800

2. สุกร /ไม่เกินรายละ 10 ตัว

- อายุ 1-30 วัน /อัตราตัวละ1,200

- อายุมากกว่า 30 วัน /อัตราตัวละ2,500

3. ไก่พื้นเมือง /ไม่เกินรายละ 300 ตัว

- อายุ 1-21 วัน /อัตราตัวละ20

- อายุมากกว่า 21 วัน ขึ้นไป /อัตราตัวละ40

4. ไก่ไข่ /ไม่เกินรายละ 1,000 ตัว

- อายุ 1-21 วัน/อัตราตัวละ15

- อายุมากกว่า 21 วัน ขึ้นไป /อัตราตัวละ60

5. ไก่เนื้อ /ไม่เกินรายละ 1,000 ตัว

- อายุ 1-21 วัน /อัตราตัวละ15

- อายุมากกว่า 21 วัน ขึ้นไป /อัตราตัวละ35

6. เป็ดไข่ /ไม่เกินรายละ 1,000 ตัว

- อายุ 1-21 วัน /อัตราตัวละ15

- อายุมากกว่า 21 วัน ขึ้นไป /อัตราตัวละ40

7. เป็ดเนื้อ /ไม่เกินรายละ 1,000 ตัว

- อายุ 1-21 วัน /อัตราตัวละ15

- อายุมากกว่า 21 วัน ขึ้นไป /อัตราตัวละ40

8. นกกระทา /ไม่เกินรายละ 1,000 ตัว

- อายุ 1-21 วัน /อัตราตัวละ5

- อายุมากกว่า 21 วัน ขึ้นไป /อัตราตัวละ 10

9. แพะ /อัตราตัวละ1,400/ไม่เกินรายละ 10 ตัว

10. แกะ/อัตราตัวละ1,400 /ไม่เกินรายละ 10 ตัว

11. นกกระจอกเทศ/อัตราตัวละ 2,000 /ไม่เกินรายละ 10 ตัว

12. ห่าน/อัตราตัวละ 50/ไม่เกินรายละ 300 ตัว

เมล็ดพันธุ์ /อัตรา 220/ไม่เกินรายละ 10 ตัว

ท่อนพันธุ์ /อัตรา625/ไม่เกินรายละ 20 ไร่



กรณี ได้รับความเสียหายที่เกินจากการช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อย เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2552 ให้ได้รับความช่วยเหลืออีกครึ่งหนึ่งของความเสียหายส่วนที่เกินนั้น



เจียไต๋ แนะปลูกผักขาย โกยเงินได้ไว

"สุ ภัทร เมฆิยานนท์" ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายปรับปรุงพันธุ์พืช ธุรกิจเมล็ดพันธุ์ บริษัท เจียไต๋ จำกัด กล่าวว่า ภายหลังน้ำลด หากเกษตรกรรายใด ต้องการมีรายได้ไว ก็ควรปลูกพืชผัก เช่น แตงกวา ถั่ว ผักใบ อาทิ คะน้า กวางตุ้ง รวมทั้ง แตงโม เมล่อน ฯลฯ เพราะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตออกขายได้ในระยะเวลาประมาณ 30-40 วัน ความจริง พื้นที่การเกษตรที่โดนน้ำท่วม ยังถือว่า มีจุดดีอยู่บ้างคือ ตัดวงจรการแพร่ระบาดของโรคและแมลงไปแล้ว หากปลูกผักหลังน้ำลด มีโอกาสเจอปัญหาโรคและแมลงค่อนข้างน้อย

ขณะนี้ เริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวแล้ว เป็นระยะเวลาที่เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมปลูกพืชผัก เพราะพืชผักจะสามารถเจริญเติบโตได้ดี ดังนั้น หากเกษตรกรรายใดต้องการปลูกผักในระยะนี้ ควรสำรวจตลาดก่อนล่วงหน้าว่า พืชผักชนิดใดที่ตลาดต้องการมากที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงทางการตลาด

"กรมข้าว เตรียมแจกเมล็ดพันธุ์ข้าว

ให้เกษตรกรปลูกหลังน้ำลด"

"ชัย ฤทธิ์ ดำรงเกียรติ" อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า ขณะนี้ กรมการข้าวได้จัดชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่ จำนวน 50 ชุด สำหรับดูแลให้คำแนะนำด้านวิชาการแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในพื้นที่จังหวัด นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก สุพรรณบุรี ฯลฯ ที่ประสบภัยน้ำท่วมในช่วงที่ผ่านมา เพื่อให้พวกเขาสามารถกลับมาปลูกข้าวรอบใหม่ได้เร็วที่สุด พร้อมกับจัดเตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าวไม่ไวแสง จำนวน 30,000 ตัน แจกจ่ายให้เกษตรกร เฉลี่ยรายละ 10 ไร่ หรือ ประมาณ 100 กิโลกรัม

ทั้ง นี้ กรมวางแผนกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวให้ถึงมือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวภายในเดือน พฤศจิกายนนี้ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเริ่มปลูกข้าวได้ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2554-กุมภาพันธ์ 2555 อย่างไรก็ตาม กรมห่วงว่า ระยะที่ต้นข้าวตั้งท้องในช่วงฤดูหนาว อาจมีผลผลิตน้อย โดยเฉพาะข้าวพันธุ์ชัยนาท 1 ปทุมธานี 1 จึงขอแนะนำให้เกษตรกรหลีกเลี่ยงข้าวไม่ไวแสงทั้ง 2 สายพันธุ์ ดังกล่าว ในช่วงปลายปีนี้

นอกจากนี้ อธิบดีกรมการข้าวได้คาดการณ์ว่า วิกฤตน้ำท่วมในช่วงที่ผ่านมา คาดว่าจะสร้างความเสียหายให้แก่พื้นที่ข้าวนาปี ถึงร้อยละ 80 ขณะนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรและกรมการข้าวกำลังอยู่ระหว่างการประเมินตัวเลขความเสีย หายที่ชัดเจน รวมทั้งวิเคราะห์ตัวเลขค่าชดเชยความเสียหายให้แก่เกษตรกรผู้ประสบภัย จึงอยากให้เกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนในครั้งนี้ เร่งขึ้นทะเบียนจากสำนักงานเกษตรตำบลในท้องถิ่นเป็นการเร่งด่วน เพื่อขอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลทั้งในรูปเงินชดเชยและเมล็ดพันธุ์ข้าว



ดูแลฟื้นฟู ไม้ดอกไม้ประดับ หลังน้ำลด

ใน ช่วงนี้หลายพื้นที่ต้องประสบกับปัญหาน้ำท่วม ไม้ดอกไม้ประดับหลากหลายชนิดของเหล่าบรรดาคนรักต้นไม้ต้องจมน้ำ หลายคนกังวลและเป็นห่วงต้นไม้แสนรักที่ต้องยืนแช่น้ำอยู่ วันนี้นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ฉบับที่ 515 มีเคล็ดลับการฟื้นฟูไม้ดอกไม้ประดับหลังน้ำลดมาแนะนำ ลองเอาไปปฏิบัติกันครับ

หากยังมีน้ำท่วมขังอยู่ อันดับแรกที่ต้องรีบทำคือ หาทางระบายน้ำออกโดยเร็วที่สุด เพราะยิ่งรากพืชจมหรือแช่อยู่ในน้ำนานเท่าใด ยิ่งจะส่งผลให้ต้นไม้ขาดอากาศนานเท่านั้น และให้นึกอยู่ตลอดเวลาว่า ต้นไม้ตอนนี้ก็เหมือนกับผู้ป่วย ซึ่งเราต้องรีบเยียวยาโดยเร่งด่วน

เมื่อ น้ำลด หากดินที่ปลูกยังเปียกชุ่มอยู่ พยายามอย่าเข้าไปเหยียบย่ำหรือกดดิน เพราะจะทำให้ดินอัดตัวแน่น อาจจะทำให้ขาดออกซิเจน อีกทั้งน้ำหนักตัวของเราอาจทำให้รากพืชขาดหรือช้ำได้ ควรรอให้ดินในสวนแห้งสนิทก่อน จึงค่อยเข้าไปสำรวจความเสียหาย

เมื่อ น้ำแห้งสนิทแล้ว ให้สังเกตดูว่า มีต้นไม้ต้นใดบ้างที่เกิดอาการผิดปกติ โดยให้ดูที่ใบเป็นอันดับแรก เพราะส่วนใหญ่พืชที่ไม่สามารถดูดน้ำเข้าไปจะแสดงอาการเหี่ยวเฉาที่ใบก่อน จากนั้นใบจะเริ่มเหลืองและร่วงในที่สุด

สำหรับต้นที่ดูว่าน่าจะรอด ให้รีบเยียวยาก่อน โดยการตัดแต่งกิ่งให้ทรงพุ่มโปร่งเพื่อลดการคายน้ำ และให้แสงแดดส่องได้อย่างทั่วถึง จะได้ไม่มีปัญหาเรื่องโรคและแมลงตามมา นอกจากนี้ จะช่วยให้ดินบริเวณโคนต้นแห้งเร็วขึ้น

ส่วนการให้น้ำ ควรงดการให้น้ำและปุ๋ยในช่วง 2 วันแรกหลังน้ำลด เพราะรากพืชยังไม่สมบูรณ์ เมื่อต้นไม้เริ่มฟื้นตัว จึงค่อยให้น้ำแต่น้อย หลังจากนั้น ควรให้ปุ๋ยและฮอร์โมนเพื่อเร่งการเจริญเติบโตของราก

เมื่อต้นไม้ฟื้น ตัวดีแล้ว ค่อยบูรณะสวนใหม่ โดยปรับระดับความลาดเทของพื้นที่ และปรับปรุงดินให้ร่วนซุยเพื่อให้ระบายน้ำได้ดี และสำหรับบ้านที่อยู่ใกล้แม่น้ำลำคลอง ซึ่งมักมีปัญหาระดับน้ำใต้ดินสูง ก่อนปลูกต้นไม้ควรทำคันดินเพื่อยกระดับโคนต้น และพูนโคนต้นให้สูงกว่าระดับเดิม

วิธีนี้น่าจะช่วยให้ต้นไม้ของคุณ ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อการฟื้นตัวของต้นไม้อีก อาทิ ชนิดของพืช ความแข็งแรงทนทาน และระยะเวลาการเติบโตของพืช นอกจากนี้ พืชที่ได้รับการตัดแต่งกิ่งก่อนน้ำท่วมจะสามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่า ดังนั้น ก่อนถึงฤดูฝนทุกครั้ง หากสวนของเราเคยมีประวัติน้ำท่วมมาแล้ว จึงควรเตรียมการให้พร้อมก่อนเสมอ

หลังน้ำลด อาชีพประมง ฟื้นฟูอย่างไร

สถานการณ์ น้ำท่วม ได้สร้างความเสียหายกับหลากหลายอาชีพ หนึ่งในนั้นคือ อาชีพประมง ซึ่งเป็นอาชีพที่ใช้น้ำเป็นปัจจัยหลักในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ต่างก็ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยครั้งนี้ และเมื่ออุทกภัยได้ผ่านพ้นไป คงเหลือไว้แต่ปัญหาที่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงต้องหาทางแก้ไขและฟื้นฟูอาชีพของ ตนเอง

คุณอ้อมเดือน มีจุ้ย นักวิชาการประมงชำนาญการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดกาญจนบุรี มีคำแนะนำเกี่ยวกับการฟื้นฟูอาชีพประมงหลังน้ำลด (การเพาะเลี้ยงปลาในกระชัง ในบ่อดิน) ให้กับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงได้นำไปปฏิบัติ

การเลี้ยงปลา ในกระชัง ส่วนใหญ่แล้วจะนิยมเลี้ยงกันบริเวณริมฝั่งแม่น้ำ ริมบึง ริมคลอง การเลี้ยงปลาลักษณะนี้มักจะได้รับความเสียหายน้อยกว่าการเลี้ยงในบ่อดิน เนื่องจากกระชังที่ใช้เพาะเลี้ยงนั้นจะสามารถลอยตัวขึ้น-ลง ตามระดับน้ำได้ ทำให้ช่วยลดการสูญเสีย

ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบในช่วงน้ำท่วม สำหรับการเพาะเลี้ยงปลาในกระชังคือ คุณภาพของน้ำที่ไหลผ่านกระชังจะเน่า ทำให้ปลาขาดออกซิเจนและอาจตาย ซึ่งการป้องกันจะทำได้ยาก เนื่องจากน้ำที่ไหลผ่านเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติมีปริมาณมาก มีของเสียไหลรวมลงมา ซึ่งไม่สามารถควบคุมคุณภาพของน้ำได้

การฟื้นฟู ปลาในกระชัง เราจะทำได้ก็ต่อเมื่อน้ำลดระดับลงเป็นปกติ โดยเราจะต้องทำความสะอาดกระชังปลาพักไว้ระยะหนึ่ง และต้องตรวจสอบคุณภาพน้ำบริเวณที่จะเพาะเลี้ยงก่อนจะทำการเพาะเลี้ยงใหม่อีก ครั้งหนึ่ง

ส่วนการเลี้ยงปลาในบ่อดิน หลังจากที่น้ำลดลงแล้ว อันดับแรกควรจะระบายน้ำออกจากบ่อเลี้ยง พร้อมกับทำความสะอาดบ่อให้เรียบร้อย เนื่องจากในช่วงที่น้ำท่วมศัตรูที่เป็นอันตรายกับปลาอาจจะเข้ามาภายในบ่อ เพาะเลี้ยง และสร้างความเสียหายได้ พอระบายออกหมดเกษตรกรผู้เลี้ยงต้องพักบ่อไว้ระยะหนึ่ง ก่อนที่จะเริ่มเพาะเลี้ยงใหม่อีกครั้ง

วิธีการฟื้นฟูเหล่านี้ อาจจะเป็นเพียงการฟื้นฟูเบื้องต้น ที่เกษตรกรสามารถนำไปปฏิบัติก่อนได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ



เครื่องจักรกลการเกษตรจมน้ำ

ส่งช่างที่ดีที่สุด


จาก เหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ ต้องประสบความเสียหายเป็นอย่างมาก ซึ่งไม่เฉพาะความเสียหายในไร่นา ทั้ง นาข้าว แปลงมันสำปะหลัง ไร่อ้อย และอื่นๆ รวมไปถึงด้านปศุสัตว์ ประมงด้วย ยังรวมไปถึงวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในการประกอบอาชีพ โดยเฉพาะเครื่องจักรกลการเกษตร

ใน วันนี้ ภาพของเครื่องจักรกลการเกษตรที่อยู่ในความครอบครองของเกษตรกร เช่น รถไถนาเดินตาม เครื่องสูบน้ำ เครื่องหยอดเมล็ดและเครื่องพ่นยา ตามหมู่บ้านต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดที่ประสบกับภัยน้ำท่วม จึงจมอยู่ใต้น้ำเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่งผลทำให้เกิดความชำรุดเสียหาย ทำให้ไม่สามารถใช้งานได้

ดังนั้น สิ่งที่ดีที่สุดในการป้องกันไม่ให้เครื่องจักรกลการเกษตร ต้องประสบกับความเสียหายจากภัยน้ำท่วมคือ การจัดเก็บไว้ในที่น้ำท่วมไม่ถึง

แต่อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่จัดเก็บไม่ทันและต้องจมอยู่ใต้กระแสน้ำ สิ่งที่สำคัญ เมื่อสามารถกู้คืนมาได้คือ การนำไปซ่อมแซมบำรุงรักษา

ซึ่ง กรณีของการซ่อมแซมบำรุงรักษานั้น จำเป็นต้องใช้บริการจากช่าง ซึ่งในวันนี้ ไม่เฉพาะช่างในภาคเอกชนเท่านั้นที่จะให้บริการในการบำรุงรักษา แก้ไข ให้สภาพเครื่องจักรกลสามารถมีสภาพดีกลับมาดังเดิม ในส่วนงานภาครัฐต่างๆ ก็มีการออกให้บริการซ่อมแซมบำรุงรักษาเครื่องจักรกลการเกษตรอีกด้วย โดยจะมีการออกให้บริการในพื้นที่ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องคอยติดตามข่าวสารการออกให้บริการในพื้นที่ใกล้บ้าน

แต่ สำหรับในเบื้องต้น หากต้องประสบกับภาวะเครื่องจักรกลการเกษตรในครอบครอง ต้องมาจมอยู่ใต้น้ำ ในการดำเนินการแก้ไขนั้น มีข้อแนะนำจาก อาจารย์สุรเวทย์ กฤษณะเศรณี ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องจักรกลการเกษตรว่า เมื่อสามารถกู้เครื่องจักรกลการเกษตรขึ้นมาจากน้ำและปล่อยให้แห้งแล้ว ควรที่จะรีบนำไปให้ช่าง ซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ตรวจเช็กแก้ไข จะดีที่สุด ในกรณีที่เกษตรกรไม่มีความรู้เกี่ยวกับการบำรุงรักษา

ด้วยปัญหาสำคัญคือ หากไปสตาร์ตเครื่อง อาจทำให้เครื่องเสียหายได้ โดยเครื่องยนต์จะอาจช็อร์ต จนไม่สามารถใช้การได้

ทั้ง นี้ อาจารย์สุรเวทย์ บอกว่า ส่วนมากแล้ว ปัญหาที่เจอคือ น้ำจะซึมเข้าไปในเครื่องยนต์ เข้าไปในห้องน้ำมันเครื่อง ซึ่งจะต้องมีการนำน้ำออก และถ่ายน้ำมันเครื่องใหม่ รวมถึงปัญหาชิ้นส่วนต่างๆ ที่จะเกิดสนิมขึ้นได้ นอกจากนี้ อาจจะมีสิ่งสกปรกต่างๆ เข้าไปในห้องยนต์และอุปกรณ์ต่างๆ ด้วย

นอกจาก เครื่องจักรกลการเกษตรที่จำเป็นสำหรับการทำไร่นาแล้ว รถยนต์กระบะสำหรับการบรรทุกนับเป็นอุปกรณ์สำคัญของเกษตรกร หากกรณีที่ต้องประสบกับภาวการณ์ถูกน้ำท่วม ก็ไม่ควรที่จะไปดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น เพราะในปัจจุบันเครื่องยนต์ของรถกระบะยี่ห้อต่างๆ จะมีการใช้สมองกลคอมพิวเตอร์เข้ามาเป็นส่วนประกอบสำคัญ ซึ่งจำเป็นต้องให้ช่างที่มีความรู้ช่วยในการแก้ไขด้วยเช่นกัน

สรุป หากไปดำเนินการบำรุงรักษาโดยไม่มีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับระบบเครื่องยนต์แล้ว ก็จะทำให้เกิดความเสียหายมากขึ้น ดังนั้น สิ่งที่ดีที่สุดคือ การนำไปให้ช่างจัดการดูแลซ่อมบำรุงจะดีที่สุด



แหล่งข้อมูล

- ไม้ผล


กลุ่มส่งเสริมการผลิตไม้ผล กรมส่งเสริมการเกษตร โทรศัพท์ (02) 579-3816 และ (02) 579-0121 ต่อ 405

- พืชผัก

กลุ่มส่งเสริมการผลิตผัก กรมส่งเสริมการเกษตร โทรศัพท์ (02) 940-6106 และ (02) 579-0121 ต่อ 429 และ 430

- ปศุสัตว์

ศูนย์ประสานงานการเฉพาะกิจการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยด้านปศุสัตว์ โทรศัพท์ (02) 653-4926

กรมปศุสัตว์ ถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ โทรศัพท์ (02) 653-4444

- ข้าว



กรมการข้าว โทรศัพท์ (02) 561-3236, (02) 561-3056

กรมส่งเสริมการเกษตร โทรศัพท์ (02) 579-0121-27

บริษัท เจียไต๋ จำกัด โทรศัพท์ (02) 233-8191

- สัตว์เลี้ยง

กลุ่มบริการชุมชนทางสัตวแพทย์สาธารณสุข กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย

1. คลินิกสัตวแพทย์กรุงเทพมหานคร 1 สี่พระยา โทรศัพท์ (02) 236-4055 ต่อ 213 น.สพ. ฐิติพันธ์ บรรเจิดประยูร

2. คลินิกสัตวแพทย์กรุงเทพมหานคร 2 มีนบุรี โทรศัพท์ (02) 914-5822 น.สพ. สุรพงษ์ พรรณภัทราพงษ์

3. คลินิกสัตวแพทย์กรุงเทพมหานคร 3 วัดธาตุทอง โทรศัพท์ (02) 392-9277 ต่อ 118 น.สพ. ไพฑูรย์ ฉัตรวิริยาวงศ์

4. คลินิกสัตวแพทย์กรุงเทพมหานคร 4 บางเขน โทรศัพท์ (02) 579-1342 ต่อ 4 น.สพ. วุฒิ คงคาชนะ

5. คลินิกสัตวแพทย์กรุงเทพมหานคร 5 วัดหงส์รัตนาราม โทรศัพท์ (02) 472-5896 ต่อ 109 น.สพ. โสภณ ดำรงค์พลาสิทธิ์

6. คลินิกสัตวแพทย์กรุงเทพมหานคร 6 ช่วง นุชเนตร โทรศัพท์ (02) 476-6495-6 ต่อ 104 น.สพ. สมาส เจนเจริญพันธ์

7. คลินิกสัตวแพทย์กรุงเทพมหานคร 7 บางกอกน้อย โทรศัพท์ (02) 411-2432 น.สพ. นภดล จารุวัฒนสกุล

- ประมง

กรมประมงเกษตรกลาง จตุจักร กรุงเทพฯ โทรศัพท์ (02) 562-0600-15

- ไม้ดอกไม้ประดับ

กลุ่มส่งเสริมการผลิตไม้ดอกไม้ประดับ กรมส่งเสริมการเกษตร โทรศัพท์ (02) 940-6104





กรมประมง...เปิดศูนย์บริการชั่วคราว

ออกใบรับรอง การนำเข้า - ส่งออก สัตว์น้ำ

และสินค้าประมง อำนวยความสะดวกช่วงน้ำท่วม



จากสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลให้ในหลายพื้นที่เกิดวิกฤต


ทำให้ไม่สามารถเข้า-ออก สถานที่ทำงานได้ หนึ่งในนั้นก็คือ กรมประมง (ส่วนกลาง) ตั้งอยู่ในพื้นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ซึ่งเป็นหัวใจหลักในการสั่งการหน่วยงานประมงทั่วประเทศ อีกทั้งในส่วนกลางยังมีหน่วยงานย่อยของกรมประมงที่เปิดให้บริการผู้ประกอบ การในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกใบรับรอง การนำเข้า-ส่งออก สัตว์น้ำ การวิจัยสุขภาพสัตว์น้ำจืด การรับรองมาตรฐานคุณภาพสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ฯลฯ ต่างได้รับความเสียหายจนที่ทำการของกรมประมง (ส่วนกลาง) ต้องหยุดชะงักลงชั่วคราว

ดร. วิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ปัจจุบันไทยจัดเป็นประเทศต้นๆ ที่สามารถนำเข้า-ส่งออก สัตว์น้ำ ได้มากที่สุด เนื่องจากสัตว์น้ำของไทยได้มีการพัฒนาระบบการรับรองสัตว์น้ำและสินค้าประมง ของไทยให้มีคุณภาพและมาตรฐาน จนสัตว์น้ำและสินค้าประมงของไทยเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก แต่เนื่องจากเหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นนี้ส่งผลให้กรมประมง (ส่วนกลาง) เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่น้ำท่วม จนได้รับความเสียหาย รวมถึงหน่วยงานที่ทำหน้าที่ออกใบรับรองและอนุญาตนำเข้า-ส่งออก สัตว์น้ำ และสินค้าประมง ที่ตั้งอยู่ในกรมประมง (ส่วนกลาง) เช่นกัน ซึ่งพอเกิดเหตุดังกล่าว ทางกรมได้สั่งการให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่ควบคุมมาตรฐานสินค้าประมงของไทย ทั้งหมดเตรียมความพร้อมในเรื่องการออกใบรับรองให้กับผู้ประกอบการที่มายื่น ขอในกรณีต้องออกใบรับรองนอกพื้นที่ โดยล่าสุดนี้ ทางกรมประมงได้เปิดศูนย์บริการชั่วคราว เพื่อออกใบรับรองและอนุญาต นำเข้า-ส่งออก สัตว์น้ำ และสินค้าประมง ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อาคาร CE 1 ชั้น 1 ห้อง 20 เขตปลอดอากร



ศูนย์บริการชั่วคราวเพื่อออก ใบรับรองและอนุญาต นำเข้า-ส่งออก สัตว์น้ำ และสินค้าประมง ที่เปิดให้บริการนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ และเพื่อไม่ให้การ นำเข้า-ส่งออก สัตว์น้ำ ของไทยต้องหยุดชะงักลง โดยการเปิดให้บริการศูนย์ดังกล่าวจะดูแลในเรื่องของการออกใบรับรองครอบคลุม ในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการออกใบรับรองการส่งออกกุ้ง DS-2031 โดยเฉพาะกุ้งที่ส่งออกไปสหรัฐอเมริกา ที่จะต้องเป็นกุ้งที่ได้มาจากการเพาะเลี้ยง ไม่ใช่จากแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งที่ผ่านมากุ้งไทยส่งออกไปสหรัฐอเมริกาได้มากถึง 50% การนำเข้า-ส่งออก สัตว์น้ำ ตามอนุสัญญาไซเตส การนำเข้าสัตว์น้ำและซากสัตว์น้ำ (สป.5 สป.6) การนำเข้าสัตว์น้ำทั่วไป (กท.1 กท.2) การรับรองมาตรฐานคุณภาพสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ฯลฯ เป็นต้น ผู้ที่ต้องการยื่นขอใบรับรอง สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริการชั่วคราว เพื่อออกใบรับรองและอนุญาต นำเข้า-ส่งออก สัตว์น้ำ และสินค้าประมง โทร. (02) 134-0720

แม้สถานการณ์น้ำท่วมจะทำให้ หลายคนได้รับความเสียหาย แต่การเปิดศูนย์บริการดังกล่าวจะเป็นเครื่องยืนยันให้กับตลาดโลกได้เห็นถึง ศักยภาพการส่งออกของไทย ถึงแม้จะเจอกับวิกฤตการณ์น้ำท่วม คนไทยก็ยังสามารถ นำเข้า-ส่งออก สัตว์น้ำ และสินค้าประมงได้อย่างมีคุณภาพและมาตรฐานเหมือนเดิม


การเลี้ยงไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,ไส้เดือนดิน,รักษ์ดิน,ฮิวมิคพลัส,มูลไส้เดือนดิน,ปุ๋ยหมัก

Tags : หลังน้ำลด ทำการเกษตรอย่างไร?

view